สธ.ปรับลดราคาวัตถุเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ฯ ที่ใช้ทางการแพทย์จำนวน 20 รายการ เริ่มใช้ 1 ต.ค.54 นี้ บางตัวลดมากกว่า 50% ช่วยให้สถานพยาบาลประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อยา และประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์อย่างครอบคลุมทุกระดับทั้งในเขตเมืองและชนบท ขณะเดียวกันก็พยายามให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างทั่วถึง รวมทั้งได้ใช้ ยาดีมีคุณภาพ ในราคาที่ยุติธรรม ซึ่งในส่วนของวัตถุเสพติดที่ใช้ทางการแพทย์เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีกลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด ทำหน้าที่ในการจัดหายาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ประเภท 4 และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 สำหรับใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ได้ประกาศลดราคายาลงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี เนื่องจากได้มีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการใหม่ตั้งแต่ปี 2552 โดย อย.ได้เปิดกว้างให้วัตถุเสพติดที่ใช้ทางการแพทย์ที่เป็นยาสามัญ (Generic drug) ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้วว่ามีสรรพคุณเท่าเทียมกับยาต้นแบบ (Original drug) เข้าแข่งขันประกวดราคาในการจัดซื้อยาได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมียาสามัญจากหลายประเทศ เช่น เยอรมนี กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพเทียบเท่ายาต้นแบบ สามารถเข้ามาแข่งขันอย่างเสรีในการเข้าร่วมประกวดราคา ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการบริหารยา ได้ผู้ผลิตใหม่ๆ เข้ามา ไม่เกิดการผูกขาดที่อาจทำให้เกิดปัญหายาขาดตลาด นอกจากนี้ อย.ยังดำเนินการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องตามระเบียบพัสดุ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมทั้งมีนโยบายการจัดซื้อยาครั้งละ 2 ปี แต่แบ่งการส่งยาออกเป็นงวด ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศต้องแข่งขันด้านราคา โดยยาบางตัวที่ผ่านการประกวดราคาแล้วมีราคาลดลงกว่าครึ่ง
ในขณะที่ อย.ยังคงได้ยาที่ดี มีคุณภาพในการรักษา และเกิดความมั่นคงในการบริหารยาคงคลังอีกด้วยสำหรับยาที่ได้ปรับลดราคาลงมี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มยาแก้ปวด กลุ่มยานำสลบที่ใช้ในการผ่าตัด และกลุ่มยานอนหลับซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป ตัวอย่างยาที่ใช้กันมากและมีราคาลดลงอย่างชัดเจน เช่น ยาเฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ขนาด 12 ไมโครกรัม/ชั่วโมง สำหรับแก้ปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง บรรจุกล่องละ 5 แผ่น ราคาขายปี 2551 กล่องละ 1,060 บาท ลดราคาครั้งที่ 1 ปี 2554 เหลือ 795 บาท (ลดลง 25% เมื่อเทียบกับราคาปี 2551) ลดราคาครั้งที่ 2 ปี 2555 เหลือ 580 บาท (ลดลง 45% เมื่อเทียบกับราคาปี 2551) ยาเฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ขนาด 25 ไมโครกรัม/ชั่วโมง บรรจุกล่องละ 5 แผ่น ราคาขายปี 2551 กล่องละ1,895 บาท ลดราคาครั้งที่ 1 ปี 2554 เหลือ 1,210 บาท (ลดลง 36% เมื่อเทียบกับราคาปี 2551) ลดราคาครั้งที่ 2 ปี 2555เหลือ 1,000 บาท (ลดลง 47% เมื่อเทียบกับราคาปี 2551) ยาเฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ขนาด 50 ไมโครกรัม/ชั่วโมง บรรจุกล่องละ 5 แผ่น ราคาขายปี 2551 กล่องละ 3,475 บาท ลดราคาครั้งที่ 1 ปี 2554 เหลือ 2,190 บาท (ลดลง 37% เมื่อเทียบกับราคาปี 2551) ลดราคาครั้งที่ 2 ปี 2555 เหลือ 1,700 บาท (ลดลง 51% เมื่อเทียบกับราคาปี 2551)
นายวิทยากล่าวต่อไปว่า ยาเสพติดฯและวัตถุออกฤทธิ์ฯ ที่ใช้ในทางการแพทย์เหล่านี้ ส่วนใหญ่มีราคาสูง จึงไม่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่หากราคาลดลง อาจมีการพิจารณานำเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับผู้มีสิทธิในกลุ่มต่าง ๆ ต่อไป ซึ่งการปรับลดราคายาในครั้งนี้ ช่วยให้สถานพยาบาลประหยัดงบประมาณในการจัดหายา สามารถนำงบประมาณไปใช้บริการประชาชนในด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการใช้ยาต่อปีกับส่วนต่างของราคาขายในปี 2551 เทียบกับปี 2555 ที่ลดราคาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ส่วนลดนี้มีมูลค่าสูงถึง 76,642,000 บาท/ปี ค่าใช้จ่ายที่ลดลงทำให้สถานพยาบาลสามารถปรับลดราคาขาย ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น ทั้งผู้ป่วยกลุ่มสวัสดิการของรัฐ กลุ่มหลักประกันสุขภาพ 30 บาท หรือในกรณีที่ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบจ่ายค่ายาเอง ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันนี้ลงได้
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย.กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดกว้างในการประกวดราคาซื้อยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ฯ ที่ใช้ในทางการแพทย์ ที่ อย.ดำเนินมาประมาณ 2 ปีนี้ ผู้ที่ชนะการประกวดราคามิใช่เฉพาะบริษัทที่เป็นผู้ผลิตยาสามัญเท่านั้น ยาบางตัวเป็นยาต้นแบบ ยี่ห้อเดียวกับที่เคยจำหน่ายให้ อย.ก่อนหน้านี้ เช่น ยาเมทิลเฟนิเดท ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด สำหรับรักษาเด็กสมาธิสั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปิดกว้างและการประกวดราคาอย่างโปร่งใส มีผลให้ผู้ผลิตยาต้นแบบต้องลดราคาลง เพื่อเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตยาสามัญรายอื่นๆ ซึ่งผลประโยชน์ทั้งหมดจะตกกับผู้ป่วยที่จะได้ใช้ยาดี มีคุณภาพ ในราคาถูกลงกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ ยาบางตัว อย.ได้จัดซื้อจากผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย เพื่อความมั่นคงในการบริหารยา ไม่ให้ยาขาดตลาดกรณีมีเหตุจำเป็นใดๆ เกิดขึ้น เช่น ยาเฟนทานิล ทั้งชนิดฉีดและแผ่นแปะผิวหนัง และมอร์ฟีน ซัลเฟต จะมีการสั่งซื้อจาก 2 แหล่งผลิต ซึ่งรายละเอียดยาที่ลดราคาลงทั้งหมดสามารถดูได้จากเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th เข้าไปที่เว็บไซต์แนะนำ และเลือกเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด