xs
xsm
sm
md
lg

กำชับทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคติดต่อมากับยุงช่วงน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับทุกจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วม ให้เฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับยุง ช่วงน้ำท่วมหากมีน้ำขังเน่าเสีย จะมียุงรำคาญชุกชุม ชี้หลังน้ำลดประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะมีแหล่งน้ำขังเช่นกะลา ถุงพลาสติก กาบมะพร้าว ให้ยุงลายวางไข่ ยุงจะเพิ่มจำนวน ขอให้ประชาชนช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สถานการณ์โรคไข้เลือดออกจนถึงขณะนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 48,760 ราย เสียชีวิต 35 ราย พบในภาคกลางสูงสุด

เช้าวันนี้ (17 ก.ย.)นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บริหารกรมควบคุมโรค เปิดรณรงค์ขับเคลื่อนเครือข่ายการป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.พระนครศรีอยุธยา มัสยิดอะมะดียะห์ หมู่ 1 ต.พระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง โดยมอบพันธุ์ปลาหางนกยูง 2,000 ตัว คู่มือโรคไข้เลือดออกสำหรับประชาชน อสม. และนักเรียน 6,000 เล่ม ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย ยาทากันยุงกว่า 8,000 ซอง ให้แก่นายกเทศบาล ต.ลาดบัวหลวง, ต.สามเมือง, นายก อบต.ลาดบัวหลวง, พระยาบันลือ, คลองพระยาบันลือ, สิงหนาท, คูสลอด, หลักชัย, ประธานชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน, ประธานชมรม อสม.ลาดบัวหลวง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังมีท่วมขัง จะมียุงรำคาญที่เพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำท่วมขังที่น้ำเน่าเสียชุกชุม ส่วนในบ้านที่เก็บน้ำใช้ น้ำกินโดยไม่ปิดฝาให้มิดชิด ยุงลายจะเข้าไปวางไข่ได้เช่นกัน ในช่วงที่น้ำไหลหลาก ไข่ยุงจะถูกน้ำท่วมพลัดพาไป หรือถูกปลากิน และยุงจะไม่วางไข่ในน้ำไหล แต่ภายหลังน้ำลดแล้ว โดยเฉพาะช่วง 1-2 สัปดาห์ จะต้องเฝ้าระวังอีกครั้ง เพราะจำนวนยุงจะชุกชุมมาก เนื่องจากมีแหล่งให้ยุงวางไข่ได้จำนวนมาก ได้แก่ กะลา ถัง กระป๋อง ถุงพลาสติก กาบมะพร้าว ยางรถยนต์ ภาชนะเหล่านี้เป็นแหล่งขังน้ำ พอน้ำตกตะกอนเป็นน้ำใส หรือน้ำฝนตกลงมาซ้ำ ยุงลายจะสามารถวางไข่ได้ ภายใน 7 วันจะเกิดลูกน้ำยุงลายมากมาย และภายใน 10 วันจะกลายเป็นตัวยุง จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง อาจจะทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกระบาดหลังน้ำลดได้

ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด สำนักงานควบคุมป้องกันโรค 12 แห่งทั่วประเทศ เฝ้าระวัง และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนทุกบ้าน ให้ทำความสะอาดบ้านและบริเวณบ้าน อย่าให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และเร่งทำลายลูกน้ำยุงลาย โดยเทน้ำขังลงดินที่แห้ง ให้เร่งดำเนินการภายใน 7 วันหลังน้ำลด ซึ่งวิธีนี้ จะสามารถควบคุมยุงได้ดีกว่าใช้สารเคมีพ่นยุงตัวโตบินได้แล้ว เนื่องจากเป็นการทำลายลูกน้ำยุง ตายยกคอก

ทางด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 กันยายน 2554 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 48,760 ราย เสียชีวิต 35 ราย โดยพบผู้ป่วยในภาคกลางมากที่สุดจำนวน 23,868 ราย หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งประเทศ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11,621 ราย ภาคเหนือ 9,534 ราย และภาคใต้น้อยที่สุด 3,737 ราย สำหรับที่จ.พระนครศรีอยุธยา มีรายงานผู้ป่วยสะสม 593 ราย เสียชีวิต 1 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดที่เขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา 256 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น