เอแบคโพลล์ เผยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบเยาวชนไทยใน 17 จังหวัด ใช้ยาเสพติดประเภทต่างๆ ไม่นับรวมเหล้าและบุหรี่ จำนวน 1,715,447 คน เสพกัญชามากที่สุด รองลงมาคือ ยาบ้า โดยเริ่มเสพยาอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น และพบว่า เด็กที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสพยาเสพติดมากกว่า 5 เท่า เสนอทางแก้ควรเพิ่มพื้นที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เยาวชน
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยงานวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง รายงานตัวเลขผลประมาณการจำนวนเด็กและเยาวชนที่ใช้ยาเสพติดทั่วประเทศ กรณีศึกษาตัวอย่างอายุ 12-24 ปี ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา ในพื้นที่ 17 จังหวัด จากกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวน 12,253,191 คน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม-14 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา จำนวน 2,783 ตัวอย่าง พบว่า เด็กและเยาวชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 20.7 สูบบุหรี่ โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ปี และสูบครั้งแรกอายุต่ำสุด 5 ขวบ ในขณะที่เด็กและเยาวชนร้อยละ 35.0 ดื่มเหล้า โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 16 ปี และดื่มเหล้าครั้งแรกอายุต่ำสุด 4 ขวบ
นายนพดล กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าห่วง คือ ผลวิจัยตามหลักสถิติประมาณการจำนวนเด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษาที่ใช้สารเสพติดทั่วประเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ใช้ยาเสพติดประเภทต่างๆ ไม่นับรวมเหล้าและบุหรี่ จำนวน 1,715,447 คน โดยจำแนกออกเป็นตัวยาต่างๆ พบว่า เสพกัญชามากที่สุดคือ 894,483 คน โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 17 ปี รองลงมา คือ ยาบ้า จำนวน 649,419 คน โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 17 ปี ที่น่าตกใจคือเสพยาบ้าครั้งแรกที่อายุ 7 ขวบ และอันดับที่สาม คือ ยาไอซ์มีจำนวน 563,647 คน มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 16 ปี เป็นต้น เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชน เปรียบเทียบกับเด็กและเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่พบว่า เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสพยาเสพติดมากกว่า 5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ดื่มเหล้ากับไม่ดื่มเหล้าพบว่า เด็กและเยาวชนที่ดื่มเหล้ามีโอกาสเสพยาเสพติดมากกว่าถึง 7 เท่า
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่มีปัญหาและไม่มีปัญหาด้านต่าง ๆ ในชีวิต พบประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มที่มีปัญหาด้านการเรียนมีโอกาสสูบบุหรี่/ดื่มเหล้าสูงเป็น 2 เท่า และมีโอกาสเสพยาเสพติดมากกว่า 1 เท่า กลุ่มที่มีปัญหาด้านการเงินยังมีโอกาสสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าสูงเป็น 2 เท่า และมีโอกาสเสพยาเสพติดมากกว่า 2 เท่า กลุ่มที่มีปัญหาครอบครัวมีโอกาสสูบบุหรี่/ดื่มเหล้ามากกว่า 2 เท่า และหันไปใช้ยาเสพติดมากกว่า 2 เท่า แต่ที่น่าเป็นห่วงสุด คือ กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องแฟนหรือคู่รักมีโอกาสสูบบุหรี่/ดื่มเหล้ามากกว่า 3 เท่า และหันไปพึ่งยาเสพติดมากกว่า 3 เท่าเช่นกัน เป็นต้น
และเมื่อสอบถามถึงความต้องการของเด็กและเยาวชนที่ต้องการจากรัฐบาลและผู้ใหญ่ในสังคมพบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 90.5 ระบุควรเพิ่มพื้นที่ที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของเยาวชนไทย รองลงมา คือร้อยละ 83.6 ควรปฏิรูปเศรษฐกิจ ร้อยละ 83.3 ระบุควรปฏิรูปสังคม ร้อยละ 82.6 ระบุควรขจัดพื้นที่เสี่ยงทำลายคุณภาพของเยาวชนไทย เช่น สถานบันเทิง บ่อนพนัน ร้อยละ 73.0 ระบุควรปฏิรูปการเมือง และรองลงไปคือ ประชาชนต้องมีอิสระ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกมากเกินไป ไม่รู้จักให้อภัย ไม่มีน้ำใจต่อกัน นักการเมืองเป็นตัวอย่างไม่ดี ยึดถือประโยชน์ของตนเองเป็นส่วนใหญ่ ต้องการความเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง และผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างไม่ดี ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหากัน ตามลำดับ
นายนพดล กล่าวว่า ผลการประมาณการและเสียงสะท้อนจากเด็กและเยาวชนที่ค้นพบครั้งนี้ อาจชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเสนอทางออก คือ 1.เพิ่มพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ ปกป้องคุณภาพของเด็กและเยาวชนให้ได้สัมผัสเรียนรู้โครงการต่างๆ 2.รัฐบาลน่าจะนำยุทธศาสตร์จัดระเบียบสังคมมาใช้อย่างจริงจังต่อเนื่องลดพื้นที่เสี่ยงรอบสถาบันการศึกษาและชุมชน และ 3.ควรมีระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพติดตามกลุ่มเด็กและเยาวชนที่หลงผิดติดยาเสพติดและผ่านการบำบัดแล้ว ให้เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม มีหน้าที่การงาน มีการศึกษาและมีอนาคตที่ดี โดยเสนอให้ติดตามประเมินผลต่อเนื่องนาน 5 ปี จนมั่นใจว่าพวกเขาเจริญเติบโตอย่างปกติสุขไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นและสังคม