กาญจนบุรี - รอง ผวจ.กาญจนบุรี เผยปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติดตามแนวชายแดนไทย-พม่าด้านจังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะด้านอำเภอสังขละบุรียังคงมียู่ และจากกลไกการเฝ้าระวังพบพื้นที่นอกประเทศด้าน อ.พญาตองซู สหภาพพม่า ยังคงเป็นแหล่งผลิตและพักยาเสพติดเพื่อรอการลักลอบนำเข้าประเทศไทยไปยังพื้นที่ตอนในอีกจำนวนมาก พร้อมชี้วิธีแก้ปัญหายาเสพติดให้ยั่งยืนได้นั้นต้องนำยุทธศาสตร์โครงการ 5 รั้ว มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
วันนี้ (13 ก.ย.54) นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รอง ผวจ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันตก จรดประเทศพม่า ห่างจากกรุงเทพมหานคร 129 กิโลเมตรมีพื้นที่ 19,483 ตารางกิโลเมตร หรือ 12,176,968 ไร่ ประกอบด้วย 13 อำเภอ 95 ตำบล 959 หมู่บ้าน 165 ชุมชน มีอำเภอชายแดน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ อ.ไทรโยค อ.เมือง และ อ.ด่านมะขามเตี้ย มีจุดผ่อนปรนทางการค้า 1 แห่งคือด่านพรมแดนพระเจดีย์สามองค์และมีช่องทางเข้า-ออกทางธรรมชาติ ประมาณ 42 ช่องทาง ซึ่งเอื้อต่อการนำเข้ายาเสพติดและแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดนอกประเทศและแนวชายแดน
จากกลไกการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด พบว่า พื้นที่นอกประเทศด้าน อ.พญาตองซู สหภาพพม่า ยังคงเป็นแหล่งผลิตและพักยาเสพติด (ยาบ้า) เพื่อรอการลักลอบนำเข้าประเทศไทย ไปยังพื้นที่ตอนใน
นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รอง ผวจ.กาญจนบุรี กล่าวต่อว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติด ตามแนวชายแดนด้านอำเภอสังขละบุรียังคงปรากฏอยู่ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่ตอนในเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดยาเสพติดมาก 3 อันดับแรกของจังหวัดกาญจนบุรี จากสถิติการจับกุมผู้ค้า ผู้เสพ คือ อ.เมือง อ.ท่าม่วง และ อ.ท่ามะกา ตามลาดับ
สำหรับชนิดของยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ยาบ้า กัญชาแห้ง และสารระเหย โดยมีเครือข่ายการค้ายาเสพติดรายสำคัญ เช่น นักค้ายาเสพติดรุ่นเก่า (ที่พ้นโทษ) กลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง ในขณะที่นักค้ายาเสพติดรายใหม่ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และสามารถเปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้ค้ารายสำคัญ พร้อมสร้างเครือข่ายขึ้นเองได้อย่างรวดเร็ว
การป้องกันอาชญากรรม และการแพร่ระบาดของยาเสพติดโดยการรณรงค์ให้ความรู้แก่เยาวชน และดำเนินงานตามปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ชนะยาเสพติดยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกันยาเสพติด ดังนี้
1.ยุทธศาสตร์โครงการ รั้วชายแดน การสกัดกั้นการนาเข้ายาเสพติดตามแนวชายแดน จังหวัดกาญจนบุรีได้ดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งขีดความสามารถในการสกัดกั้นการนำเข้ายาเสพติดจากนอกประเทศ โดยบูรณาการจัดกำลังปฏิบัติการลาดตระเวนและจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัดกั้นตามแนวชายแดน
2.ยุทธศาสตร์โครงการรั้วชุมชน การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาสังคม ป้องกันยาเสพติด จังหวัดกาญจนบุรีได้ดำเนินการฟื้นฟูและเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยปัจจัยสำคัญในหมู่บ้าน ชุมชน โดยเน้น บทบาทของอำเภอ รวมทั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสริมปัจจัยความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน ชุมชน เช่นจัดประชุม ประชาคมหมู่บ้าน โดยทีมวิทยากรของอำเภอ ตำบล หรือกลไกอื่นที่ปฏิบัติงานในหมู่บ้าน ชุมชน เข้าประชุมประชาคมหมู่บ้านที่กำหนดเป็นเป้าหมายลำดับแรก เพื่อสำรวจตรวจสอบผู้มีพฤติการณ์ด้านยาเสพติด ทั้งค้าและเสพ ด้วยกระบวนการประชาคมในชุมชน เป็นการคัดกรองปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน เสริมบทบาทกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้านตามกฎหมายปกครองท้องที่ พ.ศ. 2551
ให้มีภารกิจในการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับมอบหมายหน้าที่ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ในงานด้านยาเสพติดในหมู่บ้าน ชุมชน โดยมอบหมายให้ อสม. แต่ละหมู่บ้านรับผิดชอบ สำรวจ ค้นหาผู้เสพยาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน ชักชวนผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้าบำบัด และติดตาม ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด ให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข จากนั้นจึงส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีบทบาทสนับสนุนกิจกรรมด้านยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายชุมชน จากระดับหมู่บ้าน ชุมชนสู่ตำบลในพื้นที่ที่มีความพร้อม เพื่อขยายความร่วมมือของชุมชนจากหมู่บ้านไปถึงระดับตำบล โดยบูรณาการกลไกผู้นำในแต่ละหมู่บ้าน ทั้งที่เป็นผู้นำทางการ ผู้นำธรรมชาติ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเครือข่ายระดับตำบลและจัดให้มีกิจกรรมเฝ้าระวัง ป้องกันยาเพสติดระดับตำบล มีการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน สร้างหมู่บ้าน ตำบลที่เป็นศูนย์เรียนรู้ในทุกอำเภอตามจำนวนที่เหมาะสมโดยยึดหลักคุณภาพ
3.ยุทธศาสตร์ โครงการรั้วสังคม การจัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการ จัดชุดปฏิบัติการจัดระเบียบสังคม ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ จานวน 5 ชุดปฏิบัติการ เพื่อออกตรวจตรากวดขัน ดูแลสถานบริการ สถานบันเทิง หอพัก บ้านเช่า ร้านเกม โรงงาน สถานประกอบการ แพท่องเที่ยว และพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มเยาวชน เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
4.ยุทธศาสตร์ โครงการรั้วโรงเรียน โรงเรียนป้องกันยาเสพติด จังหวัดกาญจนบุรีได้ดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ให้มีประสิทธิภาพ สามารถหยุดยั้งสถานการณ์ปัญหาของเยาวชนได้ ดังนี้ ค้นหา โรงเรียน สถานศึกษา สำรวจและจัดหาข้อมูล ค้นหาผู้เสพ ผู้ติด ผู้ค้ายาเสพติด และเยาวชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อจำแนกสถานะของเยาวชนแต่ละประเภทออกจากกัน ได้แก่ ผู้เสพ ผู้ติด ผู้ค้า และกลุ่มเสี่ยงแก้ไขปัญหา เยาวชนที่มีพฤติการณ์ด้านยาเสพติดแล้ว และเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงและมีโอกาสสูงต่อการเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันยาเสพติดให้กับเยาวชนทั่วไป โดยการพัฒนาและสร้างเสริมทักษะชีวิต ด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างกระแสการป้องกันยาเสพติดวงกว้าง เช่น วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ จัดทำ MOU ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
5.ยุทธศาสตร์ โครงการรั้วครอบครัว ครอบครัวสีขาว ครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดกาญจนบุรีได้ให้ความสำคัญต่อการสร้าง รั้วครอบครัว อย่างจริงจัง ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะป้องกันยาเสพติดได้อย่างแท้จริง เมื่อใดครอบครัวอบอุ่น ครอบครัวเข้มแข็ง ก็จะส่งผลต่อพื้นฐานของความเข้มแข็งของประเทศ เราจึงได้ดำเนินการ ในการส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ให้ครบทุกหมู่บ้าน ชุมชน สำรวจ คัดเลือกครอบครัวของบุคคลที่ถูกจับในคดีเสพ/ครอบครอง หรือจาหน่ายระดับย่อย และที่บาบัดแบบสมัครใจ หรือบังคับบำบัด เพื่ออบรมให้ความรู้แก่ครอบครัว ป้องกันผู้ที่ยังหลงเหลืออยู่ในครอบครัวไม่ให้มีพฤติการณ์ด้านยาเสพติด และจัดตั้งกลุ่มผู้ปกครอง ครอบครัว ให้เป็นเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นอกจากนั้นต้องมีการสำรวจเพื่อคัดเลือกครอบครัวจากเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อปัญหายาเสพติด ที่ได้จากการสำรวจ การจัดทำประชาคม ฯลฯ และนำคนในครอบครัวที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อปัญหายาเสพติด เข้ารับการอบรมในหลักสูตรการป้องกันยาเสพติด เพื่อให้เกิดความตระหนักและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การป้องกันยาเสพติด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของครอบครัวต่อปัญหายาเสพติดและปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้อง และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวน ประกาศเจตนารมณ์เป็นครอบครัวสีขาวเพื่อป้องกันยาเสพติด
"ดังนั้น หากยุทธศาสตร์ โครงการ 5 รั้ว คือ รั้วชายแดน รั้วชุ"มชน รั้วสังคม รั้วโรงเรียน และรั้วครอบครัวได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการดำเนินการเพื่อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีได้อย่างยั่งยืน" นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รอง ผวจ.กาญจนบุรี กล่าว