xs
xsm
sm
md
lg

พบ 5 นวัตกรรมโภชนาการ ช่วยเด็กไทยพ้นภัย ผอม-เตี้ย-อ้วน-โง่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมอนามัย-สสส.ค้นพบ 5 นวัตกรรมโภชนาการสมวัยช่วยเด็กไทยพ้นภัย ผอม-เตี้ย-อ้วน-โง่ หลังพบเด็กไทยในวัยเรียนเกินครึ่ง หรือ 1 ใน 5 กินอาหารไม่ครบ 3 มื้อ แถมกินอาหารว่างให้พลังงานเกินความจำเป็นเกือบ 3 เท่า เตรียมนำ 5 นวัตกรรมไปใช้ 300 กว่าโรงเรียน ใน 9 จังหวัดนำร่อง พร้อมชงเป็นนโยบายพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการเด็กวัยเรียนในปี 55
 

วันนี้ (10 ก.ย.) ที่โรงแรมริชมอนด์ โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทย มีโภชนาการสมวัย ดำเนินการโดยกรมอนามัย และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้การสนับสนุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมและเปิดตัวนวัตกรรมโรงเรียนโภชนาการสมวัย มีการนำเสนอนวัตกรรมโรงเรียนโภชนาการสมวัยของสถานศึกษา และพิธีมอบโล่เกียรติคุณแก่ภาคีเครือข่ายโภชนาการสมวัย และเกียรติบัตรให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิในกรพัฒนานวัตกรรมโภชนาการสมวัยและโรงเรียนโภชนาการสมวัย

ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นกยกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ประธานเปิดโครงการการประชุม กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยของกรมอนามัยได้ดำเนินการมาถูกทางแล้วและเป็นงานที่สำคัญ เพราะโภชนาการสมวัยนั้นจะต้องสมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาเกิดมาจะต้องมีน้ำหนักมาตรฐาน 3 กิโลกรัม และเมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียนต้องมีน้ำหนัก ส่วนสูงเหมาะสมตามวัย และเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ มีสุขภาพที่ดี โดยโภชนาการที่ดีสมวัยนั้น ต้องเกิดการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย ดังนั้น โครงการนี้จึงมีจุดเด่นมากเพราะเป็นโครงการที่ลงสู่ชุมชน และผู้ที่รับผิดชอบหลักคือองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภายในชุมชนก็มีโรงเรียน ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของชุมชนที่จะร่วมมือกันขยายผลต่อไป จุดเด่นสำคัญอีกประการคือการนำวิชาการมาใช้ในการพัฒนา เพราะทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดความคิดใหม่ น่าเชื่อถือมีหลักฐานทางวิชาการที่หนักแน่น จุดเด่นที่สามคือเนื้อหาหลักๆ ในด้านโภชนาการ ผัก ผลไม้ ลดความหวาน มัน เค็ม โรคอ้วน ทั้งหมดนี้อยากให้เรียนรู้โดยการการปฏิบัติ เพื่อให้นำไปสู่พฤติกรรมทางด้านโภชนาการ และสุขภาพที่ดีและยั่งยืน และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นจะต้องนำสู่การประเมินพฤติกรรม ผลที่พึงเกิดขึ้นด้วย

นพ.ณรงค์ สายวงศ์ อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ในปีที่สามนี้จะดำเนินการใน 4 กลยุทธ์ คือ สร้างระบบเตือนภัยและการจัดการด้านอาหารและโภชนาการ การผลักดันให้เกิดแผนชุมชนเพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีโภชนาการสมวัย การพัฒนาสู่องค์กรที่พึงประสงค์ด้านโภชนาการ และการสื่อสารสาธารณะและการขับเคลื่อนโยบายสาธารณะด้านโภชนาการสมวัย และรวมถึงการจัดเวทีถอดบทเรียนและกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนงานโภชนาการในระดับพื้นที่และระดับชาติ ที่จะส่งผลให้เด็กไทยซึ่งเป็นอนาคตของชาติมีโภชนาการสมวัยต่อไป

นายสง่า ดามาพงศ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาและการสำรวจโรงเรียนหลายแห่ง พบ 1 ใน 5 ของเด็กไทยวัยเรียนระดับประถมศึกษา กินอาหารไม่ครบ 3 มื้อ โดยเด็กนักเรียน ร้อยละ 60 ไม่ได้กินอาหารเช้า, ร้อยละ 68 กินผัก และ ร้อยละ 55 กินผลไม้น้อยกว่า 1 ส่วนต่อวันตามลำดับ ขณะเดียวกันเด็กนักเรียน 1 ใน 3 กินอาหารประเภทแป้ง ไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูงเป็นประจำ และกินอาหารว่างที่ให้พลังงานเกินกว่ามาตรฐานเกือบ 3 เท่า ที่น่าตกใจคือ ร้อยละ 49.6 กินขนมกรุบกรอบเป็นประจำ และในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยกินขนมกรุบกรอบเพิ่มเป็น 2 เท่า จะเห็นได้ว่า เด็กไทยวัยเรียนมีพฤติกรรมทางอาหารและโภชนาการที่ไม่พึงประสงค์จำนวนสูงมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยผอม เตี้ย อ้วน และไอคิวต่ำ ด้วยเหตุนี้ โครงการโภชนาการสมวัยฯ จึงได้พัฒนานวัตกรรมทางอาหารและโภชนาการขึ้นมา 5 ชิ้น เพื่อใช้เป็นกลไกหรือเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโภชนาการในเด็กไทยวัยเรียนระดับประถมศึกษาให้พึงประสงค์ เพื่อเด็กจะได้มีโภชนาการสมวัยต่อไป

นายสง่า กล่าวต่อว่า โครงการโภชนาการสมวัยฯ พัฒนารูปแบบสื่อและเครื่องมือการดำเนินงานโภชนาการในโรงเรียนนำร่อง 4 สังกัด คือ สพฐ. กทม. เทศบาล และเอกชน จำนวน 33 แห่ง ใช้เวลาในการพัฒนา 3 ปี จนเกิดนวัตกรรมโภชนาการสมวัย จำนวน 5 ชุด ดังนี้ ชุดที่ 1 ชุดเรียนรู้กลางเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยใช้เป็นคู่มือครูในการเรียนการสอนโภชนาการแบบมีส่วนร่วมจำนวน 4 เรื่อง คือ ธงโภชนาการ, ผักผลไม้, ลดหวาน มัน เค็ม และโรคอ้วน โดยบูรณาการทั้ง 4 เรื่องเข้าไว้ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ชุดที่ 2 คู่มือปฏิบัติการมาตรฐานอาหารในโรงเรียนระดับประถมศึกษา ใช้เป็นแนวปฏิบัติการกำหนดและการให้บริการอาหารกลางวัน อาหารว่าง และเครื่องดื่มในโรงเรียนให้ได้มาตรฐานโภชนาการ ชุดที่ 3 โปรแกรมสำเร็จรูปอาหารกลางวันและการเฝ้าระวังการเจริญเติบโตเพื่อให้โรงเรียนได้นำไปกำหนดชนิดและปริมาณอาหารที่จะนำมารปรุงประกอบอาหารกลางวันให้ได้กินครบคุณค่าทางโภชนาการตลอดจน บอกภาวะโภชนาการเด็กและแนวทางส่งเสริมป้องกันในโปรแกรมสำเร็จรูป ชุดที่ 4 คู่มือประเมินตนเองของโรงเรียนโภชนาการสมวัยใช้สำหรับโรงเรียนประเมินตนเองเพื่อหาจุดแข็ง-จุดอ่อนของโรงเรียนในการส่งเสริมโภชนาการในโรงเรียน และชุดที่ 5 โปรแกรมประเมินตนเองด้านอาหารและโภชนาการนำเอาข้อมูลจากการประเมินตนเองป้อนเข้าโปรแกรมก็จะทำให้โรงเรียนได้รู้สถานการณ์โภชนาการของตนเอง

“นวัตกรรมโภชนาการสมวัยทั้ง 5 ชุด ได้นำไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง จนเกิดผลดีต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาหารและโภชนาการของเด็กวัยประถมศึกษาและมีการนำไปใช้ในการขยายสู่โรงเรียนอื่น ดังนั้นโครงการโภชนาการสมวัยจึงได้เปิดตัวนวัตกรรมโภชนาการสมวัย 5 ชุด และขยายพื้นที่การทดลองได้ในอีก 300 กว่าโรงเรียน ใน 9 จังหวัดนำร่อง โดยจะเริ่มทดลองใช้ในปีการศึกษาปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 - มีนาคม 2555 หลังจากนั้นจะนำผลการดำเนินงานมาถอดบทเรียนและสรุปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการเด็กวัยเรียนในกลางปี 2555 ต่อกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดให้เป็นนโยบายของชาติต่อไป” นายสง่า กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น