“วิทยา” เผยยอดผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมพุ่งขึ้นกว่า 7 หมื่นคน เสียชีวิต 59 คน กว่าร้อยละ 80 มาจากสาเหตุจมน้ำ พบผู้ประสบภัยมีอาการซึมเศร้า 1,191 คน สั่ง 3 โรงพยาบาลผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าเพิ่ม ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
วันนี้ (4 ก.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่น้ำท่วมตลอดกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปแล้ว 640 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วย 76,585 คน พบโรคน้ำกัดเท้ามากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาปวดเมื่อย ไข้หวัด ไม่มีรายใดอาการหนัก ส่วนด้านสุขภาพจิต ได้เร่งให้กรมสุขภาพจิตร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตรวจคัดกรองอาการเจ็บป่วยทางใจ จนถึงขณะนี้ตรวจไปแล้ว 12,036 คน พบผู้มีอาการซึมเศร้า 1,191 คน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 173 คน ต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 225 คน มีผู้เสียชีวิต 59 คน เป็นชาย 54 คน หญิง 5 คน สาเหตุส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เกิดจากการจมน้ำ ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 11 คน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าน้ำท่วมขังคงจะกินเวลายาวนานกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นลักษณะน้ำล้นจากแม่น้ำ ปัญหาที่ตามมา คือ โรคน้ำกัดเท้า ขณะนี้พบร้อยละ 80 คาดว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมผลิตสำรองไว้ 200,000 ชุด และให้โรงพยาบาลอีก 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี และโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ช่วยผลิตเพิ่มจะได้ประมาณ 300,000 ชุด เพื่อให้เพียงพอ
สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 9 อำเภอ คือพระนครศรีอยุธยา บางไทร บางบาล บางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ เสนา มหาราช นครหลวง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถูกน้ำท่วม 15 แห่ง ระดับน้ำสูงประมาณ 80 เซนติเมตร แต่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกช่วยเหลือผู้ประสบภัย 59 หน่วย พบผู้ป่วย 1,060 คน ส่วนใหญ่โรคน้ำกัดเท้า ปวดกล้ามเนื้อ ไข้หวัด และให้โรงพยาบาลทุกแห่งเป็นคลังยาแจกจ่ายยาชุดน้ำท่วมครอบคลุมทุกหลังคาเรือนผู้ประสบภัย ขณะนี้แจกไปแล้ว 10,000 ชุด นอกจากนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.และอสม.เยี่ยมบ้านผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คัดกรองความเครียด 3,332 คน คัดกรองสุขภาพจิต 563 คน
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคลมชักหรือลมบ้าหมู ซึ่งอาจเกิดการป่วยฉุกเฉินจากอาการกำเริบได้ และเสี่ยงอันตราย จมน้ำเสียชีวิตได้ ไม่แนะนำให้เดินทางโดยไม่จำเป็น และขอให้ตรวจสอบยากิน หากยาใกล้หมด ขอให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโทรศัพท์หมายเลข 1669 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเดินทางเข้าไปดูแลและจัดยาไปมอบให้ถึงบ้าน