xs
xsm
sm
md
lg

ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ จี้ขนส่งแก้เกณฑ์ตรวจวัดคนตาบอดสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ
ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ จี้กรมการขนส่งทางบกปรับเกณฑ์การตรวจวัดคนตาบอดสี เพื่อออกใบขับขี่ แนะควรวัดศักยภาพการอ่านไฟจราจรหากผ่านต้องออกใบอนุญาตฯ ชี้ผู้ป่วยใช้สัญชาตญาณเรียนรู้เองได้ จักษุแพทย์ย้ำอาการตาบอดสีรักษาไม่ได้ ต้องคัดกรองตั้งแต่เด็ก ป้องกันการเลือกอาชีพที่ไม่เหมาะสม

ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้รับหนังสือจากสำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดินเกี่ยวกับกรณีการร้องเรียนจากประชาชนที่ป่วยตาบอดสี ในเรื่องความไม่เหมาะสมของระเบียบของกรมการขนส่งทางบอกที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตขับขี่รถแก่ผู้ที่ตาบอดสีได้ และทางสำนักงานฯได้ประสานมายังราชวิทยาลัยฯเพื่อขอความคิดเห็นในกรณีดังกล่าว ซึ่งทางราชวิทยาลัย ได้ส่งหนังสือเลขที่ รจท.169/2553ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2553 โดยให้ความเห็นว่า ผู้ที่มีตาบอดสีนั้นจะก็สีผิดไปจากคนปกติก็จริง แต่ยังมีความสามารถในการแยกสีไฟจราจรได้โดยไม่มีปัญหา แม้จะไม่ชัดมากแต่ไฟจราจรก็มีช่องว่างและลำดับชัดเจน คือ แดง เหลือง เขียว และมีความสว่างของไฟทีเหมาะสม รวมทั้งใช้ประสบการณ์ในการเรียนรู้ของผู้อื่นได้ ดังนั้นไม่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนอย่างแน่นอน 2.ทั่วโลก เช่น ประเทศต่างๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกา บางมลรัฐ แค่มีการตรวจผู้ตาบอดสีและอนุญาตให้สามารถขับขี่รถยนต์ได้แล้ว มีเพียงบางประเทศซึ่งส่วนมากในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เท่านั้นที่ยังไม่อนุญาต และ 3 เสนอให้กรมขนส่งทางบอกตรวจวินิจฉัยผู้ตาบอดสีได้แต่ให้ใช้หลักการดูไฟ เขียว เหลืองแดง เหมือนไฟจราจร ซึ่งหนังสือดังกล่าวตนลงนามไปแล้ว ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการแผ่นดินได้เสนอข้อคิดเห็นไปยังกรมการขนส่งทางบอกแล้วให้พิจารณาปรับปรุงเกณฑ์และวิธีการทดสอบผู้ตาบอดสี แต่ทางกรมก็ยังนิ่งเฉย

จากประสบการณ์ที่เคยพบนั้น ผู้ที่ตาบอดสีบางคนไม่เคยรู้ตัวว่าป่วย และสามารถขับรถได้ปกติ จนมาถึงช่วงที่ต้องตรวจคัดกรองเพื่อขอใบขับขี่จึงทราบ ส่วนนี้เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ดังนั้นจึงอยากให้กรมการขนส่งเห็นใจประชาชน ซึ่งหากต้องการความร่วมมือจากแพทย์ ราชวิทยาลัยฯ ก็ยินดีจะอำนวยความสะดวกในการตรวจคัดกรองได้ เพื่อยืนยันว่าผู้ตาบอดสีนั้นมีอาการในระดับใดมองสีเพี้ยนเพียงใด” ผศ.นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว

ผศ.นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ของผู้ตาบอดสีในประเทศไทยนั้นพบเพียงแค่ร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่สามารถขับขี่รถได้โดยอาศัยสัญชาตญาณการพึ่งพาตนเอง ในการแยกลำดับ ซึ่งเรียนรู้จากคนรอบข้าง อย่างไรก็ตาม หากจะตรวจวัดก็ควรวัดแค่ศักยภาพในการมองสีสัญญาณไฟจราจรคู่กับการเรียนรู้กฎจราจรด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ควรวัดละเอียดแบบการตรวจสายตาทั่วไป เพื่อความเสมอภาค ซึ่งส่วนนี้ ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ลงนามเห็นชอบกับราชวิทยาลัยฯ แล้ว
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ด้าน นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า ในทางการแพทย์นั้น ตาบอดสีไม่สามารถรักษาหายขาดได้ โดยจากการทบทวนงานการศึกษาของสหรัฐอเมริกา นั้นพบว่า ผู้ตาบอดสีส่วนใหญ่เป็นเพศชายพบได้ 1 ใน 12 ขณะที่เพศหญิงพบได้ 1 .ใน 200 ราย หรือชายพบได้ร้อยละ 8 หญิงพบได้ร้อยละ 0.5 เท่านั้น ซึ่งผู้ตาบอดสีได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีการอ่านเครื่องมือแบบสากลที่เรียกว่า อิชิฮาราเทสต์ (IshiHaRA’s test) และหากจะคัดกรองเพื่อป้องกันปัญหาในการใช้ชีวิตก็ต้องคัดกรองตั้งแต่เด็ก เพื่อที่ครู ผู้ปกครอง จะได้ให้คำแนะนำในการเลือกเรียนและเลือกอาชีพ เนื่องจากบางอาชีพนั้นต้องใช้ความละเอียดในการแยกสีสูง เช่น อาชีพ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ นักออกแบบกราฟิกดีไซน์

จักษุแพทย์กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุของตาบอดสีนั้นมีหลายอย่าง บางรายเกิดจากพันธุกรรม เนื่องจากตาเซลล์ประสาทชนิดหนึ่ง ในม่านตาซึ่งมีความไวต่อสีต่างๆ มีความบกพร่องหรือพิการ ทำให้ดวงตาไม่สามารถที่จะมองเห็นสีบางสีได้ ตาบอดสี มีหลายชนิด ชนิดที่ทุกคนรู้จักโดยทั่วไปได้แก่ ตาบอดสีที่มองสีเขียว กับสีแดงไม่เห็น (Red - Green blindness) ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถแยกสีแดงกับสีเขียวจากสีอื่นๆ ได้ ดังนั้นคนตาบอดสีชนิดนี้จะมองเห็นสิ่งต่างๆ ในโลกเป็นสีน้ำเงิน สีเหลือง สีขาว สีดำ สีเทา และส่วนผสมของสีเหล่านั้นทั้งหมด บางรายแยกสีแดงและสีเขียวค่อนข้างลำบากโดยเฉพาะเวลาที่แสงไม่สว่างนัก ขณะที่บางรายไม่สามารถแยกสีน้ำเงินกับสีเหลือง จะมีบ้างเหมือนกันที่เป็นโรคตาบอดสีทุกสีเลยแต่เป็นส่วนน้อยมาก คนที่บอดสี แดง-เขียวมักจะบอดสี น้ำเงิน-เหลืองด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นตาบอดสีชนิดใด ล้วนจะมีสายตาหรือการมองเห็น (vision) ที่เป็นปกติ เพียงแต่ความสามารถในการแยกสี ไม่ปกติเท่านั้นเอง ส่วนอาการร่วมก็เกิดจากภาวะโรคอื่นที่ไปรบกวนเซลล์ประสาทตา หรือจอประสาทตาเส้นประสาทตาถูกทำลาย หรือส่วนรับรู้ในสมอง จากสาเหตุต่างๆ เช่น การเกิดโรคพากินสัน การเกิดอัลไซเมอร์ การอักเสบ ภาวะขาดเลือด อุบัติเหตุเนื้องอก หรือผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมี

นพ.ฐาปนวงศ์กล่าวด้วยว่า กรณีการขับรถนั้นไม่ใช่ว่าทุกรายจะมีปัญหาเหมือนกัน กรณีที่บางรายถ้าอาการหนักถึงขั้นแยกช่องว่างไม่ออกและมีอาการมองสิ่งของเป็นสีขาว เทา ดำ แบบนี้ก็ไม่ควรให้ขับขี่รถ แต่อาการจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของแพทย์ จึงอยากให้กรณีของกรมการขนส่งทางบอกนั้นมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม อย่าพยายามเหมารวม
กำลังโหลดความคิดเห็น