xs
xsm
sm
md
lg

คณบดีวิทย์ จุฬาฯ เปรยขอกลับมาใช้ระบบ “เอนทรานซ์” คัด นศ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณบดีวิทย์ จุฬาฯ เปรยอยากกลับไปใช้ระบบเอนทรานซ์ ชี้ ระบบเดิมช่วยให้คัด นศ.ได้ตรงตามต้องการ ระบุ ที่ผ่านมา ทวท.ยืนยันเรื่องนี้มาตลอด หากเป็นไปได้จะเสนอในวงประชุมที่จัดสอบถามความเห็นการปรับสัดส่วนแอดมิชชัน 56 ของคณะทำงานแอดมิชชันฟอรัม

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม นายสุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ประธานคณะทำงานแอดมิชชันฟอรัม ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะจัดสัมมนาโดยเชิญมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเพื่อหารือถึงบทบาทของระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาผ่านระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชัน โดยหัวข้อหนึ่งของการสัมมนา คือ จะสอบถามคณะ/สาขาต่างๆ ว่า จะปรับสัดส่วนในองค์ประกอบใดบ้าง ในการแอดมิชชันปี 2556 เพื่อให้สามารถคัดเลือกนักศึกษาได้ตรงตามความสามารถ ว่า ตนไม่แน่ใจว่า ในการเสวนาดังกล่าว จะเปิดกว้างเรื่องการปรับสัดส่วนได้มากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่ผ่านมา สภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทวท.) ยืนยันมติเดิมจะให้กลับไปใช้ระบบเอนทรานซ์ที่จะให้แยกคะแนนสอบวิชา ฟิสิกส์ เคมี และ ชีววิทยา วิชาละ 100 คะแนน

ส่วนวิชาสามัญก็และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ให้เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง แต่ไม่ให้ค่าน้ำหนัก เพราะโดยหลักการเราเรียนด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และภาษาไทย เพื่อให้คนมีความเป็นคนโดยสมบูรณ์ แต่การเข้าสู่วิชาชีพจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานในวิชาเฉพาะที่จำเป็น เช่น ในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์หรือคณะแพทยศาสตร์ จำเป็นต้องมีพื้นฐานวิชาด้านฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และคณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างแน่น

“ตั้งแต่ปรับจากระบบเอนทรานซ์มาเป็นการแอดมิชชัน เห็นได้ชัดว่า นักศึกษาได้คะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์ โดยพบว่า มีนักศึกษาที่ได้เกรด C D F หรือ 2.00 ถึง 92% ส่วนเกรด A B มีเพียง 8% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า การคัดเลือกนักศึกษาโดยใช้ระบบแอดมิชชัน ไม่สามารถคัดนักศึกษาได้ตรงตามความสามารถ ที่ผ่านมา สิ่งที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ แก้ปัญหา คือ หนีไปรับตรงพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น ให้โควตานักเรียนที่ผ่านโครงการพิเศษต่างๆ นักเรียนจากโครงการโอลิมปิกวิชาการ เป็นต้น”

ด้าน ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ได้เสนอต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ขอปรับสัดส่วนแอดมิชชัน แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ โดยของลดคะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT ลงเหลือ 10% จากเดิมใช้ 20% เพิ่มคะแนนความถนัดทางวิทยาศาสตร์หรือ P2 เป็น 40% จากเดิม 30% และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPAX 20%และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต 30% เนื่องจากทางสภาคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ เห็นว่า นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ควรจะมีความรู้พื้นฐานด้านนี้ให้มาก เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ใช่การท่องจำ และที่ผ่านมา พบว่า การที่เด็กมาเรียนโดยไม่มีพื้นฐาน เมื่อต้องไปเรียนในวิชาที่ยากขึ้นจะเรียนได้ช้าทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น จึงขอปรับเพิ่มสัดส่วน P2 ให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถคัดเลือกนักศึกษาที่เข้าเรียนได้ตรงตามความสามารถ
กำลังโหลดความคิดเห็น