“อาหาร” เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์ แต่หากความเจ็บป่วยของร่างกายเป็นอุปสรรค ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหาร หรือใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและจิตใจลดลง การวิจัยและทดลองเพื่อหาสิ่งที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ จนเป็นแรงผลักดันในการค้นคว้าวิจัยระหว่างมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับสถาบันต่างๆ อีกหลายแห่ง จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก หรือ “เจลลี่โภชนา” ขึ้น โดยได้เข้าร่วมในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554 ที่เพิ่งผ่านมานี้ด้วย
รศ.วิสิฐ จะวะสิต ผู้ทำวิจัย จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงที่มา ว่า กระบวนการรักษาโรคมะเร็งช่องปากในปัจจุบัน ต้องใช้วิธีการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี ซึ่งมีผลให้ผู้ป่วยประสบปัญหาความพิการของอวัยวะบดเคี้ยว และมักทำให้เกิดแผล ในช่องปาก รวมถึงปัญหาต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อยลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้สะดวก และอาจจำเป็นต้องพึ่งพาการรับประทานอาหารทางสายยาง ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากมักต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล นานกว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดอื่น และยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตจากการที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากมักมีอาการขาดอาหาร ซึ่งมีผลต่อเนื่องกับประสิทธิภาพในการรักษา นอกจากนี้ “เจลลี่โภชนา” ยังสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้อีก เช่น อัมพาต โรคในช่องปาก เป็นต้น
ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการเพียงพอ และมีคุณลักษณะที่ผู้ป่วยสามารถบริโภคได้เองทางปาก โดยไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดขณะกลืน รวมถึงมีรสชาติที่ยอมรับได้ จึงเป็นแนวทางที่ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและ ลดปัญหาการขาดอาหารลง ซึ่ง “เจลลี่โภชนา” นี้ไม่ใช่อาหารเสริม แต่สามารถรับประทานเป็นอาหารหลักได้ โดยปริมาณการรับประทานจะอยู่ที่ 2 กล่อง ต่อ 1 มื้อ
รศ.วิสิฐ เล่าถึงคุณสมบัติ ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีลักษณะเป็นเจลทำให้ผู้ป่วยสามารถกลืนได้ง่าย ไม่สำลัก เวลาเคี้ยวก็ไม่เจ็บ โดยถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบการฆ่าเชื้อในระบบยูเอชที (Ultra Heat Treatment) และบรรจุในกล่องปลอดเชื้อที่สามารถเปิดบริโภคได้ง่าย มีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม ซึ่งสัดส่วนของพลังงานที่ได้มีทั้งจากคาร์โบไฮเดรต ไขมัน นอกจากนี้ยังมีโปรตีนที่มีคุณภาพดีและมีอายุการเก็บรักษาได้อย่างน้อย 1 ปี
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบสามารถนำไปพัฒนาเป็นรสชาติที่หลากหลาย ทั้งในรูปอาหารคาวและหวาน อาทิเช่น ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ข้าวหอมมะลิ ข้าวมันไก่ มะม่วง ชานม ลิ้นจี่ โดยในเบื้องต้นผลิตภัณฑ์บางรสชาติจะถูกนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรม จำนวน 840,000 กล่อง เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากจำนวน 1,800 ราย ผ่านศูนย์มะเร็งทั้ง 9 แห่ง ทั่วประเทศ ภายในเดือนตุลาคม 2554 เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554