ผลวิจัยชี้ชัด! นักศึกษาติดพนันงอมแงม ฮิตแทงบอลสเต็ปมากกว่าเดี่ยว-เต็ง น่าห่วง นศ.หญิงยอมเสียตัวเพื่อใช้หนี้ เผยคอลัมนิสต์วิเคราะห์ทายผลกีฬา มีอิทธิพลส่งเสริมเยาวชนเล่นพนันบอล ด้าน “สภาการหนังสือพิมพ์ฯ” ยอมรับตรวจสอบควบคุมยาก ขณะที่ “เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน” เรียกร้องสื่อมวลชนมีจริยธรรมและรับผิดชอบสังคม แนะรัฐตั้งหน่วยงานดูแลเฉพาะ มีอำนาจจับกุมโดยตรง
วันนี้ (17 ส.ค.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในงานเสวนาวิชาการ “บทบาทและอิทธิพลของนักพากย์ฟุตบอล และคอลัมนิสต์ฟุตบอล ต่อการสร้างสรรค์สังคมและไม่ส่งเสริมการพนัน” จัดโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนายธนาคม พจนาพิทักษ์ หัวหน้าสาขาการแพร่ภาพและเสียงผ่านสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยผลวิจัย บทบาทและอิทธิพลของนักพากย์ฟุตบอลและคอลัมนิสต์ฟุตบอลที่มีต่อการเล่นพนันฟุตบอลของเยาวชน ในกลุ่มตัวอย่างนักพนันฟุตบอลที่เป็นนักศึกษาและผู้ที่เพิ่งเรียนจบและเริ่มทำงาน อายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 18 ราย โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.54 ที่ผ่านมา พบว่า นักพนันฟุตบอลส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ส่วนเพศหญิงจะเล่นพนันตามคนรัก นอกจากนี้ นักพนันส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มนักศึกษา มีประสบการณ์เล่นพนันฟุตบอลมาแล้วกว่า 8 ปี มีรายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 บาท โดยนิยมเล่นฟุตบอลชุด หรือบอลสเต็ป มากกว่าฟุตบอลเดี่ยวหรือบอลเต็ง
“สื่อหนังสือพิมพ์ที่มีผลต่อการโน้มน้าวให้เล่นพนันฟุตบอลของเยาวชนมากที่สุด คือ คอลัมน์เซียนอยู่ตึก และคอลัมน์มองอย่างเซียน สำหรับเหตุจูงใจที่เล่นพนันฟุตบอลเพราะต้องการเงินไปเที่ยว ดื่ม เหล้า หรือซื้อของใช้ส่วนตัว ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรง กลุ่มตัวอย่างระบุว่า สุขภาพไม่ดีจากการนอนดึก เสียการเรียน และที่น่าห่วงคือ นักศึกษาหญิงมีแนวโน้มการเล่นพนันฟุตบอลเพิ่มมากขึ้น และกลุ่มตัวอย่างบางคนบอกว่าเคยยอมเสียตัวเพื่อแลกกับการใช้หนี้พนัน” นายธนาคมกล่าว
นายวิโรจน์ ศรีหิรัญ หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า ในด้านนักพากย์และคอลัมนิสต์ฟุตบอล ที่มีผลต่อการเล่นพนันฟุตบอล ผลวิจัยระบุว่า บทบาทนักพากย์ ไม่ได้มีบทบาทโน้มน้าวชักจูงใจหรือส่งสัญญาณให้เล่นพนันฟุตบอล แต่มีบทบาทมากที่สุดในด้านการแจ้งข้อมูลข่าวสาร การให้ความบันเทิง โดยนักพากย์ฟุตบอลที่เยาวชนเปิดรับมากที่สุด คือ เอกราช เก่งทุกทาง รองลงมาคือ สาธิต กรีกุล หรือ บิ๊กจ๊ะ
นายวิโรจน์ยังกล่าวว่า บทบาทของนักพากย์ฟุตบอลมีความแตกต่างจากบทบาทของคอลัมนิสต์ฟุตบอล ซึ่งมีบทบาทโน้มน้าวชักจูงใจมากที่สุด เพราะมีการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการเล่นพนันฟุตบอล มีการวิเคราะห์วิจารณ์เกม อัตราการต่อรอง และการทายผลการแข่งขัน
“คอลัมนิสต์มีอิทธิพลต่อการเล่นพนันบอลของเยาวชนมาก เพราะมีการวิเคราะห์ผลการแข่งขัน มีการให้ข้อมูลที่ลึก มีสถิติย้อนหลัง ซึ่งถ้าคอลัมนิสต์วิเคราะห์ตรงกับตัวเอง ก็จะเล่นเต็มที่ รองลงมาก็จะเชื่อตัวเองและเพื่อน อย่างไรก็ตาม เยาวชนแนะนำว่าถ้ายังคิดจะเล่นพนันฟุตบอลก็ควรเล่นอย่างประมาณตนเอง เล่นตามจำนวนเงินที่มี เนื่องจากไม่มีใครรวยจากการเล่นพนันฟุตบอล” นายวิโรจน์กล่าว
ด้านนายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง อนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ยอมรับว่าการควบคุม ตรวจสอบจริยธรรมในวิชาชีพสื่อด้วยกันเองทำได้ยาก และมีช่องโหว่ แม้คณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะมีข้อตกลงกับสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อด้วยกันว่าหากมีการกระทำที่ส่อไปใน ทางที่ผิดจริยธรรม หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดการพนัน สามารถว่ากล่าวตักเตือน เชิญมาสอบสวน ชี้แจง ไปจนถึงตำหนิติเตียนได้ ซึ่งในอดีตเราเคยมีสื่อกีฬาเกือบทุกสำนักพิมพ์เข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ปัจจุบันทุกสำนักพิมพ์กีฬาที่เคยเป็นสมาชิกได้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากสร้างผลกระทบต่อสภาการหนังสือพิมพ์ การควบคุมตรวจสอบจึงทำได้ยาก
ขณะที่นายอิมรอน เชษฐวัฒน์ แกนนำเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ปัจจุบันการเล่นพนันมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนที่ขาดความยั้งคิด จนพัฒนากลายเป็นนักพนันหน้าใหม่ ขณะเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวกฎหมายไม่สามารถจัดการได้ เนื่องจากความล้าหลังของ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ครอบคลุมถึงการเล่นพนันฟุตบอลที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน จนเกิดเป็นช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย จึงควรมีการแก้ไขปรับปรุง นอกจากนี้ ควรมีหน่วยงานเฉพาะ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการพนันโดยตรงและมีอำนาจในการจับกุม ขณะที่ สื่อมวลชนควรแสดงบทบาทหน้าที่และสร้างอิทธิพลต่อผู้รับสารด้วยความรับผิดชอบทางจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน