xs
xsm
sm
md
lg

ผสานศาสตร์-ศิลป์-พื้นถิ่นสู่สูตรนวดวิถีไทยประยุกต์

เผยแพร่:

เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดการสัมมนาวิชาการสปาแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ขึ้น โดยในการนี้ ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพโดยเฉพาะด้านสปารวมถึงเจ้าของธุรกิจการบริการด้านสปาเข้าร่วมงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงเก็บเกี่ยวความรู้จากการบรรยายอันหลากหลายกันเป็นจำนวนมาก

โดยในการนี้ ได้มีหลากหลายธุรกิจสปา ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับงบสนับสนุนจาก ISMED (สถาบันพัฒนารัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ให้คิดประดิษฐ์สูตรการนวดที่โชว์ความเป็นไทยพื้นถิ่น ผสมผสานกับศาสตร์การนวดแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม จนออกมาเป็นการนวดวิถีไทยประยุกต์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
เติมศักดิ์ ธารา IT Manager แห่งธาร ธารา สปา จังหวัดภูเก็ต ผู้ร่วมคิดค้นการบำบัดและผ่อนคลายในรูปแบบสปาแนวล่าสุด Thai Nora Therapy บอกเล่าถึงคุณสมบัติพิเศษของศาสตร์การนวดแบบผสมผสานที่เพิ่งจะถูกคิดค้นขึ้นใหม่นี้ว่า เป็นการนำเอาท่ารำโนราอันเป็นศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นภาคใต้ มาประยุกต์ให้เข้ากับการบำบัดในรูปแบบของสปาและการกดจุดเส้นประธานสิบตามหลักภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแต่ดั้งเดิม
“ตามปกติแล้วนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่ภูเก็ตหรือจังหวัดใกล้ๆ ในภูมิภาคนี้มักจะมีกิจกรรมคล้ายกัน โดยเน้นกิจกรรมกลางแจ้งเป็นหลัก ซึ่งนอกจากกิจกรรมที่พลาดไม่ได้อย่างลงทะเล เล่นน้ำ ดำน้ำ ดูปะการังแล้ว ยังมีนั่งช้าง ตีกอล์ฟ และอื่นๆ อีกที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศต้องโดนแดดเผาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ Thai Nora Therapy จึงถูกคิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้ด้วย”

เติมศักดิ์อธิบายว่า เขาและพนักงานสปาที่มีประสบการณ์ช่วยกันนำท่ารำโนรามาดัดแปลงเป็นท่านวด โดยเน้นท่าที่สวยและใช้ได้ผล โดยท่าต่างๆ ที่นำมาใช้นั้นอยู่ในความดูแลของนพ.จิรชัย อมรไพโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และ อ.พินิจ สร้อยสุวรรณ แพทย์แผนไทยในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนการนวดไทยภูเก็ตเพื่อให้ปลอดภัยและถูกหลักศาสตร์แห่งการแพทย์แผนไทย
เราใช้เวลานวดจริงๆ ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แบ่งเป็นการนวดไทยโนราบวกกับการกดจุดเส้นประธานสิบ 45 นาที และนวดน้ำมันข้าวสังข์หยดซึ่งเป็นข้าวในท้องถิ่นและให้วิตามินอีสำหรับบำรุงผิวหนังสูงมาก ที่เหลืออีก 1 ชั่วโมงจะเป็นการแช่น้ำสมุนไพรเยียวยาผิวหนังที่ถูกแดดเผาในกิจกรรมกลางแจ้งและบำรุงผิวด้วยสมุนไพร

IT Manager คนเก่งแห่งสปาดังประจำเมืองภูเก็ตรายนี้ให้รายละเอียดต่อถึงการใช้สมุนไพรท้องถิ่นในการแช่ตัวอีก 1 ชั่วโมงตามเซ็ทการทำสปาแบบ Thai Nora Therapy ว่าจะเลือกเอาเฉพาะสมุนไพรที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยใช้ ต้นคลุ้ม ต้นคล้า และผักเป็ด ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่คนโบราณใช้แก้ไข้ ลดผดผื่น แก้ผิวอักเสบ รักษาอีสุกอีใส ทำให้ผิวชุ่มชื่นและฟื้นฟูผิวไหม้แดด ซึ่งในส่วนของพืชสมุนไพรนี้อยู่ในความดูแลของอ.จุไร สกุลเผือก อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต โดยผลตอบรับจากนักท่องเที่ยวที่เริ่มมาใช้บริการปรากฏว่าค่อนข้างดีทีเดียว

ผ่านพ้นรูปแบบสปาที่เต็มไปด้วยกลิ่นไอแห่งแสงแดดแบบฉบับทะเลใต้กันไปแล้ว ทีนี้ลองขึ้นไปสัมผัสธรรมชาติอันเขียวชอุ่มทางภาคเหนือกันบ้างที่ “CHIDA SPA” ที่อ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่งการนวดสุดเอ็กโซติกอย่าง “Chi-Shan Therapy” เข้าประกวด โดยสปาเทรนเนอร์ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์แห่งการแพทย์แผนไทยอย่าง “วรชาติ นุชประเสริฐ” ให้ข้อมูลว่า ศาสตร์การนวดผสมสปาแบบล่าสุดที่ถูกคิดค้นจากการผสมผสานระหว่างศาสตร์การนวดแบบ “ฉาน” หรือ “ไทยใหญ่” กับการนวดแบบ “ล้านนาโบราณ” ที่เจ้าตัวต้องดั้นด้นไปเรียนกับพ่อครูแม่ครูถึงอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนเลยทีเดียว แถมการนวดแบบนี้ยังใช้อุปกรณ์เสริมแบบทิเบตที่เรียกว่า “ซิงกิ้งโบลว์” (Singing Bowl) ด้วย

สปาเทรนเนอร์หนุ่มอธิบายว่า “Chi-Shan Therapy” ประยุกต์การ “นวดเหยียบผาน” ของล้านนา คือการใช้เท้าเหยียบเหล็กผานไถนาที่ถูกย่างไฟจนร้อนแดงแล้วนำเท้ามานาบกับผิวผู้ถูกนวด มาเป็นการใช้ลูกประคบสมุนไพรสูตรเฉพาะของสปา ผสานกับการนวดแบบไทยใหญ่ที่มีเอกลักษณ์ต่างไปจากของไทยคือเป็นการนวดแบบกดเคล้นคลึงเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งต่างจากการกดจุดของไทย
“การนวดคลึงสไตล์ไทยใหญ่จะคล้ายกับการนวดเชลยศักดิ์ แต่เบากว่า ผู้ถูกนวดบอบช้ำน้อยกว่า ใช้ฝ่ามือในการกดคลึง ไม่ได้ใช้นิ้วกด ซึ่งเมื่อส่วนที่ใช้กดเป็นกล้ามเนื้อแผ่นใหญ่ จะทำให้เกิดการกระจายแรงกด และช่วยเซฟไม่ให้ผิวที่ถูกกดบอบช้ำครับ แถมท่านวดสวยงามคล้ายท่าฟ้อนเจิงแบบล้านนาด้วย Chi-Shan Therapy ใช้เวลานวดราว 2 ชั่วโมง โดยทั้งรูปแบบการนวดและน้ำมันสูตรเฉพาะของเราเหมาะมากสำหรับผู้ที่มีปัญหาออฟฟิศซินโดรม เจ็ทเลค และผู้ป่วยโรคข้อ โดยการประยุกต์ภูมิปัญญาจนกลายมาเป็น Chi-Shan Therapy นี้อยู่ในความดูแลของคณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่ครับ

ในขณะที่อ.รัตนาพร ธีรเวชเจริญชัย อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต ที่แวะมาชมงานและได้มีโอกาสได้ทดลองสปาแนวใหม่ทั้ง 2 แบบ และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนตะวันออก ได้ให้ความเห็นภายหลังทดลองนวดว่า การประยุกต์ของทั้ง Chi-Shan Therapyและ Thai Nora Therapyเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเป็นศาตร์การบำบัดที่ได้ผลจริง ไม่ใช่เพียงแค่ท่าสวยอย่างเดียว
“อย่างตัวเองก็เรียนกายภาพมา รู้สึกเลยว่าการประยุกต์ของทั้งสองสปาถูกหลักทางกายภาพ อย่างของ Thai Nora Therapy ถ้าพูดในเชิงวิทยาศาสตร์คือใช้หลักดัด-ดึงที่ทำด้วยผู้เชี่ยวชาญ และทำให้เมื่อถูกนวดแล้วสบายมาก คือเวลาเหยียดจะเหยียดกล้ามเนื้อทุกส่วน เวลางอก็จะงอทุกส่วนเช่นกัน แถมผสมกับการกดจุดเส้นประธานสิบตามแบบแผนไทย ยิ่งช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น”

อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนตะวันออกได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ Chi-Shan Therapy ว่า สไตล์อันเป็นเอกลักษณ์อย่างการคลึงแบบไทยใหญ่นั้น ได้ผลอย่างยิ่งกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องตะคริวหรือกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ส่วนการนำการเคาะ Singing Bowl แบบทิเบตมาผสมผสานด้วยนั้น ก็เป็นตัวช่วยก่อให้เกิดสมาธิได้เป็นอย่างดี
“ศาสตร์ของการบำบัดด้วยเสียงได้รับการยอมรับไปทั่วโลก คลื่นเสียงของ Singing Bowl เองก็ถูกใช้ในวงกว้าง ทั้งการสะกดจิต การสร้างสมาธิ การปรับสมดุลจิตใจ”

อ.รัตนาพรทิ้งท้ายด้วยว่า ไม่ใช่เฉพาะการประยุกต์การนวดจากสปา 2 แห่งนี้เท่านั้น แต่ภูมิปัญญาไทยทางการแพทย์และสุขภาพที่สั่งสมมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่คนรุ่นนี้จะอนุรักษ์รวมถึงนำกลับมาฟื้นฟูปรับใช้ เพื่อส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลาน เพราะเป็นภูมิปัญญาที่ใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพสูงไม่แพ้ภูมิปัญญาฝั่งตะวันตก
กำลังโหลดความคิดเห็น