xs
xsm
sm
md
lg

"กระจูดวรรณี" เมืองลุง เพิ่มมูลค่าพืชท้องถิ่นแต่งแต้มลวดลายบนผืนกระจูด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - ชาวพัทลุงแปรรูปกระจูดวัตถุดิบในท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าต่อยอดผลิตภัณฑ์ "กระจูดวรรณี" ชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ต้องการของตลาด ทายาทจบศิลปกรรมสานงานต่อ พัฒนาผลิตภัณฑ์ 3 คอลเล็กชั่น Beautiful Sea, Brilliant Sand และ Beaming Sun ด้วยชิ้นงานคุณภาพกว่า 100 ชนิด

"กระจูด" เป็นพืชตระกูลเดียวกับ “กก” (Sedge) คือ ในตระกูล Cyperaccae มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Lepironia artica late กระจูด เป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตง่าย และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว พบมากแถบภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศไทย ต้นกระจูด ชอบขึ้นในที่ๆ มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลน ซึ่งเรียกว่า “พรุ” หรือชาวพื้นเมืองทางภาคใต้เรียกว่า “โพระ”

สมัยก่อนชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากต้นกระจูดในการสานเป็นเสื่อและกระสอบใส่ข้าวสาร, น้ำตาล เพื่อเป็นบรรณาการมานานกว่า 200 ปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และด้วยความยั่งยืนแห่งภูมิปัญญา ที่สืบสานกันมาอย่างไม่ขาดตอน จนถึงปัจจุบัน จึงเกิดผลิตภัณฑ์จาก “กระจูด” ที่นำมาแปรรูป เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านหลังจากทำสวน

ผลิตภัณฑ์กระจูด เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่งทางภาคใต้ ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันมาโดยตลอด รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่รู้จักทั่วไป คือ “เสื่อกระจูด” หรือ “เสื่อจูด” ภาษาพื้นเมืองภาคใต้เรียก “สาดจูด” นอกจากนั้นยังสานเป็นผลิตภัณฑ์กระสอบสำหรับบรรจุสิ่งของ เช่น ข้าวสาร ข้าวเปลือก น้ำตาล เกลือ ฯลฯ

นางวรรณี เซ่งฮวด ประธานกลุ่มชาวบ้านในนามกลุ่มหัตถกรรมกระจูดวรรณี จังหวัดพัทลุง รวบรวมสมาชิกในท้องถิ่นมาสร้างรายได้เสริมจากการสานเสื่อกระจูด หรือ สาดจูด ซึ่งได้รับการสืบทอดภูมิปัญญาต่อเนื่องกว่าหนึ่งร้อยปี เหตุเพราะมีต้นกระจูดขึ้นอย่างหนาแน่นในท้องที่ทำให้เกิดเป็นอาชีพใหม่หลังนำมาจักรสานใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว นางวรรณี ได้ใช้ประสบการณ์จากการเข้าฝึกอบรมพัฒนางานหัตถกรรมกระจูด ให้มีรูปแบบและลวดลายที่หลากหลายขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเด่นที่รูปทรง สีสัน และประโยชน์ใช้สอย สามารถคงความเป็นธรรมชาติและปลอดภัยจากสารเคมี

ต่อมา นางวรรณี เข้าเป็นสมาชิกของโครงการพระราชดำริโครงการศูนย์ศิลปาชีพหัวป่าเขียว จังหวัดพัทลุง ทำให้ได้พัฒนาฝีมือการจักสานกระจูดให้มีลวดลายลักษณะเดียวกับการทอผ้า เช่น ลายดอกแก้ว รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจูดให้มีรูปทรงต่างๆ มากขึ้น ได้นำความรู้ที่ได้รับมา ถ่ายทอดต่อให้กับชาวบ้านและช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจูดของกลุ่มหัตถกรรมกระจูดให้มีลวดลายสวยงามและรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น

จนเมื่อปี 2548 นายมนัทพงค์ เซ่งฮวด ลูกชายของนางวรรณี ซึ่งเรียนจบ ปวช. สาขาวิจิตรศิลป์ คณะศิลปกรรม วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช, ปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศศิลป์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และกำลังศึกษาปริญญาโท คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ในขณะนี้ ได้เข้ามาช่วยงานของกลุ่มหัตถกรรมกระจูดวรรณี โดยใช้ความรู้ด้านศิลปะออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นโดยเฉพะเทคนิคการย้อมสีกระจูดให้สวยงามแปลกตา

“ผมเริ่มจากเข้ามาช่วยงานด้าน Product Design ต่อมาก็เข้ามาบริหารจัดการต่อยอดจากคุณแม่ โดยมีแนวคิดว่า "งานจักสานไม่มีวันตาย" เพราะตั้งแต่จำความได้ ผมก็นอนและเติบโตมาบนเสื่อกระจูด ดังนั้นสินค้าที่ผลิตจากกระจูดน่าจะเป็นสินค้าที่ตลาดยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่นิยมสินค้าจากธรรมชาติออกแบบเรียบง่ายแต่มีสไตล์” นายมนัทพงค์ เซ่งฮวด กล่าว

การออกแบบผลิตภัณฑ์กระจูดต้องดีไซน์ให้พอดี โดยดึงเอาแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบข้าง ความประทับใจจากธรรมชาติโดยรอบมาสร้างสรรค์ ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายแต่มีความเก๋ไก๋อยู่ในตัว ขณะที่ประโยชน์ใช้สอยเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงด้วย ซึ่งกลุ่มหัตถกรรมกระจูดวรรณีพัฒนาการจักสานกระจูดให้เป็นกระเป๋าก่อน จากนั้นก็มาสานเป็นตะกร้า เพราะความต้องการของตลาดนั้น กลุ่มลูกค้าที่เป็นคนทั่วไปนิยมซื้อกระเป๋าที่สานจากกระจูดน้อย จึงเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายใหม่ มุ่งเจาะตลาดกลุ่มโรงแรมและกลุ่มธุรกิจสปา เพราะธุรกิจเหล่านี้นิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งตะกร้ากระจูดที่ผลิตขึ้นเมื่อนำไปเสนอปรากฏว่าได้ว่าผลตอบรับดีมาก

ต่อมาจึงพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ตะกร้าด้วยการใช้เทคนิคการย้อมสีเข้ามาสร้างสีสันความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เทคนิคการย้อมสีกระจูดที่ นายมนัทพงค์นำมาใช้นั้น มีทั้งการย้อมสีกระจูดก่อนแล้วนำมาจักสาน และการจักสานเป็นตะกร้าก่อนแล้วนำไปย้อมสี ซึ่งทั้งสองเทคนิคจะให้สีสันที่แตกต่างกัน คือถ้าย้อมก่อนแล้วสาน สีจะเกิดลวดลายกระจัดกระจายเหมือนลายกราฟฟิก แต่ถ้าสานแล้วนำไปย้อมก็จะได้ตะกร้าที่มีสีคมชัดเหมือนกันทั้งใบ และอีกหนึ่งเทคนิคการย้อมสีกระจูดที่ถือว่าพิเศษสุดของกลุ่มหัตถกรรมกระจูดวรรณี ก็คือการย้อมแบบไล่โทนสีหรือไล่ค่าน้ำหนักของสี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ยังมีไม่มีผู้ผลิตกระจูดรายไหนทำได้

โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์กระจูดของกลุ่มหัตถกรรมกระจูดวรรณีมีเกือบ 100 ชนิด อาทิ ตะกร้า กระเป๋า กล่อง เสื่อ กระจาด กระเช้าของขวัญ ฯลฯ ซึ่งความเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนการผลิตของ นายมนัทพงค์ ทำให้ผลิตภัณฑ์กระจูดของกลุ่มหัตถกรรมกระจูดวรรณีได้รับคำสั่งผลิตเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีคุณสมบัติครบทั้งรูปทรง สีสัน และประโยชน์การใช้สอย รวมถึงการคงความเป็นธรรมชาติและปลอดภัยจากสารเคมี จึงโดนใจกลุ่มธุรกิจโรงแรมและสปาเป็นอย่างมาก รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวแถบยุโรปที่นิยมสีสันแบบเอิร์ธโทนก็ให้ความสนใจสั่งซื้อด้วยเช่นกัน

แนวคิดและแรงบันดาลใจ ในการพัฒนาสร้างสรรค์หัตถกรรมกระจูดวรรณีจึงคิดค้น-พัฒนารูปแบบและสีสันของผลิตภัณฑ์ขึ้นเองอย่างต่อเนื่อง การออกแบบผลิตภัณฑ์มีความเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาที่สะท้อนวัฒนธรรม วีถีชีวิตท้องถิ่น และสอดแทรกความร่วมสมัย ใช้ประโยชน์ที่หลากหลายมีการศึกษา วิเคราะห์ ความต้องการของลูกค้า และพฤติกรรมความชอบของลูกค้ามาต่อยอดความคิดด้วยพื้นฐานการศึกษาด้านมัณฑนศิลป์ของทายาทธุรกิจ (คุณมนัทพงค์ เซ่งฮวด) กำลังศึกษา ป.โท ม.ศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ ที่มาช่วยออกแบบสร้างสรรค์ตัวผลิตภัณฑ์ให้มีสีสันตรงความต้องการกลุ่มเป้าหมาย

กิจการมีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ สร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าให้มีความแตกต่าง นำอัตลักษณ์ภาคใต้มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มหัตถกรรมกระจูดวรรณี ได้ข้อสรุปร่วมกันเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 3 คอลเล็กชั่นด้วยกัน ได้แก่ Beautiful Sea, Brilliant Sand และ Beaming Sun ซึ่งจะเป็นการนำสีสันจากธรรมชาติของภาคใต้ไม่วาโทนสีฟ้า สีน้ำเงิน ของน้ำทะเลมาเป็นโทนสีในการย้อมกระจูดเพื่อสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงนำกระจูดสีธรรมชาติมาสานร่วมกับกระจูดที่ย้อมสีลวดลายที่ได้ออกมาจะคล้ายกับลายของผ้ามัดหมี่เป็นต้น นอกจากนี้รูปแบบของแหและอวนซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่สื่อถึงชายหาดและทะเลมาพัฒนาเทคนิคการสานกระจูดรูปแบบใหม่

แนวคิดและเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจเพื่อต่อยอดธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ กลุ่มหัตถกรรมกระจูดวรรณี จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ SMEs ในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้โครงการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผ่านทางสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) หน่วยร่วมดำเนินงานในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยทีมนักสร้างสรรค์และนักออกแบบที่ให้คำปรึกษาให้ความเห็นว่าควรสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของชิ้นงานด้วยการใส่สีสันของภาคใต้ลงไปเช่น การไล่โทนสีเลียนแบบโทนสีของดอกไม้ สีสันของเรือกอแระ ลวดลายผ้าปาเต๊ะ ตลอดจนสีสันของหาดทรายและท้องทะเลอันดามัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้อีกทางหนึ่ง

เพื่อเป็นการสร้างความแตกต่างในการแข่งขันจากคู่แข่งทางตรงที่ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากกระจูดเช่นเดียวกัน และคู่แข่งทางอ้อมที่ผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้จากวัสดุธรรมชาติและวัสดุอื่นๆ วิสาหกิจจึงสร้างความโดดเด่นในการแข่งขัน ด้วยการกำหนดแนวทางที่จะเป็นผลิตภัณฑ์จักสานกระจูด จากธรรมชาติ ออกแบบได้อย่างมีดีไซน์ (โดยการใช้เฉดสีสองเฉดสีขึ้นไป และมีการไล่โทนสี รวมทั้งรูปทรงของผลิตภัณฑ์ได้รักการตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์) สำหรับการใช้งานและตกแต่งอย่างมีรสนิยม และวางตำแหน่งทางการตลาดว่าเป็นผลิตภัณฑ์จักสานใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ปราศจากสิ่งปลอมปนที่เป็นพิษ มีรูปทรง สีสัน และลวดลายที่สวยงาม มีดีไซน์แตกต่าง
 
เหมาะสำหรับการใช้งานและตกแต่งภายในบ้าน ตลอดจนการใช้งานในโรงแรม รีสอร์ท สปา และบูติกโฮเต็ล ที่ใช้แนวคิดในการตกแต่งแบบธรรมชาติอย่างมีรสนิยมโดยกำหนดแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมีทิศทางชัดเจน และการเพิ่ม/ปรับปรุงช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเติบโตให้กับวิสาหกิจอย่างยั่งยืน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายมนัทพงค์ เซ่งอวด 08-77609879 หรือค้นหาหัตถกรรมกระจุดคุณวรรณีทาง Face book / Varniwickery


กำลังโหลดความคิดเห็น