กลุ่มการศึกษาทางเลือกฯ พบ “วรวัจน์” ยื่นแผนพัฒนาบริหาร ร.ร.ขนาดเล็ก เน้นเชื่อมโยงการทำงานส่วนกลาง ชุมชม ท้องถิ่นเข้าด้วยกัน พร้อมเสนอให้เปลี่ยนจากอุดหนุนรายหัวเด็กเป็นอุดหนุนให้คอรบครัวในชุมชนนั้นๆ และตั้งคกก.จากทุกภาสคส่วนมาพัฒนาตามแผน เชื่อวิธีการนี้จะทำให้ ร.ร.ขนาดเล็กเข็มแข็ง “ชัชวาลย์” ขู่หาก ศธ.นิ่งเฉยจะมารวมตัวกันกดดันที่กระทรวง
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ได้เดินทางเข้าพบ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อมอบแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก และมอบดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจแก่ รมว.ศธ.ด้วย
โดย นายชัชวาลย์ กล่าวว่า ได้มายืนหนังสือต่อ รมว.ศธ. และนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมกันนี้ขอให้มีหนังสือสั่งการที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนเพื่อยกเลิกการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะขณะนี้บางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่ไม่เข้าใจว่า สพฐ.ให้มีการชะลอการยุบโรงเรียนขนาดเล็กออกไปก่อนยังพยายามทำการยุบโรงเรียนโดยเริ่มจากโรงเรียนที่มีขนาดน้อยกว่า 40 คนลงมา ทั้งที่ก่อนหน้าสภาการศึกษาฯเคยยื่นข้อเสนอ ต่อ สพฐ.และ สพฐ.ก็รับปากขจะชะลอและทำแผนพัฒนาร่วมกัน
“ที่ผ่านมา สภาการศึกษาฯ เคยมาพบ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต รมว.ศธ.และ สพฐ.แล้วขอให้พิจารณาชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อน ซึ่ง สพฐ.รับปากว่า จะให้มีการชะลอการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กก่อนเพื่อให้ สพฐ.และสภาการศึกษาฯ ไปทำแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กร่วมกัน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีคำสั่งชะลอที่ชัดเจนมีแต่คำพูดปากเปล่าของ เลขาธิการ กพฐ.” เลขาธิการสภาการศึกษาฯ กล่าว
นายชัชวาลย์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ สภาการศึกษาฯ ได้นำแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กแบบมีส่วนร่วมมาเสนอให้ ศธ.พิจารณาด้วย ซึ่งแผนดังกล่าวได้มีการยกร่างรูปแบบการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กที่เหมาะสมไว้ ในแผนดังกล่าวจะเสนอให้มีการบริหารงานโรงเรียนขนาดเล็กโดยการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนกลาง ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจะเสนอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรเงินอุดหนุนจากปกติอุดหนุนตามจำนวนเด็กซึ่งไม่มีทางเพียงพอกับโรงเรียนขนาดเล็ก มาเป็นจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับจำนวนครัวเรือนที่อยู่ในชุมชนนั้น วิธีการนี้จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีเงินเพียงพอและทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับชุมชนเกิดการทำงานร่วมกันด้วย ขณะเดียวกัน ให้มีการระดมทรัพยากรจาก อปท.มาช่วยโรงเรียนโดยมีข้อเสนอให้ อปท.กำหนดสัดส่วนของงบประมาณด้านการศึกษาให้ชัดเจน ถ้าทำเช่นนี้โรงเรียนขนาดเล็กจะอยู่รอดได้
นอกจากนี้ สภาการศึกษาฯขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนมาพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กตามแผนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ หากยังไม่ได้รับการตอบสนองที่ชัดเจน สภาการศึกษาฯจะรวบรวมเครือข่ายต่างๆ เคลื่อนไหวมารวมตัวที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่เชื่อว่าครั้งนี้น่าจะได้รับการตอบสนองจาก รมว.ศธ.