xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้แรงงานเลิกเหล้า เก็บเงินซื้อรถ-บ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพลชี้แรงงานไทยกลับใจ!! พบทางสว่าง มีบ้านมีรถ เงินเหลือเก็บ เผย 74.26% พร้อมใจงดเหล้าเข้าพรรษา หลังเจอมรสุมจากพิษน้ำเมา ก่อหนี้สินนับแสน ครอบครัวแตกแยก ลูกคิดฆ่าตัวตาย เสนอรัฐบาลคุมน้ำเมาในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

วันนี้ (7 ส.ค.) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “แรงงานไทยงดเหล้าเข้าพรรษา...ได้อะไรมากกว่าที่คิด” ทั้งนี้ ได้มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานกว่า 20 ราย ที่งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนมีเงินเหลือเก็บ สามารถซื้อสิ่งของที่จำเป็น เช่น ทีวี ตู้เย็น รถยนต์ โดยนำสิ่งของดังกล่าวมาโชว์ภายในงานด้วย

นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2-16 กรกฎาคม 2554 ทางมูลนิธิฯได้สำรวจ “การลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษาปี 2553” ของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จำนวน 1,000 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 18 โรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มโรงงานที่ทางมูลนิธิเข้าไปรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่จังหวัดลำพูน นนทบุรี สมุทรสาคร และนครปฐม ตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นชาย 59.7% หญิง 40.3% พบว่า ในแต่ละเดือนกลุ่มผู้ใช้แรงงานยอมเสียเงินไปกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น เสี่ยงโชค ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากถึง 21.12 % ส่วนที่เหลือถึงจะนำมาใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร ซื้อของใช้ และค่าเดินทาง สำหรับจำนวนเงินที่ต้องเสียไปกับการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แรงงานไทย 45.88 ระบุว่าจ่ายค่าเหล้าไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน 37 % ต้องจ่ายค่าเหล้า 1,000-2,000 บาทต่อเดือน 13.48% จ่าย 2,001-3,000 บาทต่อเดือน และ 3.64% จ่ายมากกว่าเดือนละ 3,000 บาทขึ้นไป

“ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ใช้แรงงานยอมเสียค่าใช้จ่ายไปกับการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนเงินที่สูงหากเทียบกับเงินเดือนที่ได้รับ ส่วนใหญ่ได้ไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นเทศกาลงดเหล้าเข้าพรรษาจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย โดยปี 2553 มีผู้ใช้แรงงานงดเหล้าเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน มากถึง 60.11% และน่าดีใจว่าในปี 2554 ผู้ใช้แรงงานต่างพร้อมใจงดเหล้าเข้าพรรษา 74.26% ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว 14.15%” นายสุชาติ กล่าว

หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย กล่าวด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างที่งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2553 สามารถมีเงินเก็บเพื่อนำไปใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น ได้แก่ 1.ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเทอมลูก 2.ซื้อสิ่งของ เช่น ทีวี ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ เครื่องซักผ้า รถจักรยาน ดาวน์รถยนต์ ดาวน์บ้าน 3.ชำระหนี้สิน รวมถึงการชำระหนี้ค่าเหล้าที่ดื่มก่อนเข้าพรรษาด้วย และ 4.มีเงินเก็บฝากธนาคาร ซึ่งมีทั้งฝากไว้เป็นทุนการศึกษาของลูก ทุนการศึกษาของตนเอง และฝากไว้เพื่อเป็นเงินสำรองในยามฉุกเฉิน อย่างไรก็ตามอยากฝากให้รัฐบาลใหม่ควรมีนโยบายที่ชัดเจน นอกจากเพิ่มค่าแรง 300 บาทแล้ว ต้องแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของแรงงานด้วย ต้องควบคุมไม่ให้ธุรกิจดูดเงินจากแรงงานคืนไป โดยเฉพาะกับสิ่งไม่จำเป็นในชีวิต เช่น น้ำเมา บุหรี่ การพนัน

นางสุกัญญา เกิดทิม อายุ 44 ปี หนึ่งในคนงานต้นแบบ บริษัท วาไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เริ่มดื่มเหล้ามาตั้งแต่อายุ 13 ปี เมื่อปี 2553 ก็เข้ามาทำงานที่บริษัทวาไทย แต่ก็ยังดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รายรับไม่พอกับรายจ่าย จนต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ยอมจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 20 บาทต่อเดือน ช่วงนั้นเป็นหนี้ประมาณแสนกว่าบาท และปัญหาที่ตามมาคือ ครอบครัวต้องแตกแยก มีปัญหากับลูกสาวจนลูกคิดฆ่าตัวตาย แต่ยังโชคดีที่เพื่อนบ้านเข้ามาห้ามไว้ได้ทัน และนี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตนต้องเลิกดื่มเหล้า โดยเริ่มต้นจากการเข้าร่วมโครงการลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบกับมีหลานที่เราต้องดูแล เพราะพ่อกับแม่แยกทางกัน ขณะนี้ตนเลิกเหล้ามาได้ประมาณ 4 ปีแล้ว ซึ่งชีวิตก็เปลี่ยนไปมาก ครอบครัวอบอุ่นขึ้นมีเงินเหลือเก็บ สามารถซื้อรถจักรยานยนต์และเสื้อวิน มาวิ่งรับจ้างหลังเลิกงาน

ด้าน นายสมพร ปากดี คนงานต้นแบบ บริษัท ยางโอตานิ จำกัด กล่าวว่า เริ่มดื่มเหล้าครั้งแรกตอนอายุ 18 ปี หลังเลิกงานจะต้องดื่มเหล้ากับเพื่อนเป็นประจำเกือบทุกวัน เมื่อดื่มจนเมาจึงขับรถจักรยานยนต์กลับบ้าน ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะเมาแล้วขับหลายครั้ง รุนแรงที่สุดคือรถชนทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาจนต้องเย็บ 7 เข็ม แต่หลังจากนั้น ก็ยังมีพฤติกรรมดื่มแบบนี้เช่นเดิม ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ขาดงาน หรือลางานเป็นประจำ สุขภาพแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงสุดที่ต้องจ่ายไปกับค่าเหล้าประมาณ 6,000-10,000 บาทต่อเดือน

“สำหรับจุดเริ่มต้นที่ทำให้เลิกดื่ม คือ การได้เข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ประกอบกับเรื่องหนี้สิน จากนั้นก็พยายามลดปริมาณการดื่มลงเรื่อยๆจนในที่สุดปี 2552 ก็ไม่กลับไปดื่มเหล้าอีกเลย ทำให้ต้อนนี้ชีวิตเปลี่ยนไป มีเงินเก็บต่อเติมรถจักยานยนต์พ่วงข้าง และซื้ออุปกรณ์ขายน้ำแข็งใส หารายได้เสริมรวมถึงสุขภาพดีขึ้น ไม่ต้องทะเลาะกับครอบครัว และมีเงินฝากธนาคารทุกเดือน อย่างไรก็ตามอยากฝากไปยังผู้ใช้แรงงานทุกคนให้เริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดปริมาณการดื่มลง เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เคยให้ประโยชน์กับใคร” นายสมพร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น