xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมชง รมว.สธ.ใหม่แก้ประกาศ เรื่องสิทธิการตาย 4 ข้อหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
คณะอนุ กก.สิทธิการตายแพทยสภา  เตรียมชง รมว.สธ.ใหม่แก้ประกาศ สช.-กฎกระทรวง เรื่องสิทธิการตาย 4 ข้อหลัก ขีดเส้นใต้ ต้องตัดคำว่า “กรุณาหยุดการบริการพร้อมให้คำนิยามวาระสุดท้ายของชีวิตใหม่   
           
ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษารายละเอียดและกำหนดแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับ กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือสิทธิการตาย กล่าวว่า  จากการประชุมคณะอนุกรรมการฯ  นั้นที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกัน ใน 4 ข้อหลัก คือ 1.การกำหนดวาระสุดท้ายของชีวิต ตามกฎกระทรวงเขียนไว้ค่อนข้างกว้าง อาจจะมีปัญหาหาในทางปฏิบัติ แพทยสภาจึงจะเป็นผู้กำหนดนิยามของคำว่าวาระสุดท้ายของชีวิต โดยจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และราชวิทยาลัยต่างๆ มาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อให้ความหมายของคำว่าวาระสุดท้ายของชีวิตถูกต้องตามเจตนารมณ์ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 อย่างแท้จริง  2.สถานที่ในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ซึ่งเดิมระบุให้ทำที่ใดก็ได้ แต่ที่ประชุมเสนอให้มีการทำหนังสือได้ในสถานที่ 4 แห่งเท่านั้น คือ โรงพยาบาลที่คนไข้รักษาตัว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าวต่อว่า 3.ตามตัวอย่างหนังสือแสดงสิทธิดังกล่าวนั้น ระบุว่า ให้แพทย์กรุณาหยุดการบริการ ซึ่งในทางปฏิบัติคงไม่แพทย์คนใดกล้าดำเนินการ เพราะเท่ากับทำให้ผู้ป่วยตาย  และ 4.ต้องตัดคำว่า “กรุณาหยุดการบริการ” ออกไป  ทั้ง หมดนี้จะดำเนินการขอแก้ไขในกฎกระทรวง ประกาศ สช.และอาจรวมถึง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เพื่อดำเนินการต่อไป

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การที่จะต้องตัดคำว่า “กรุณาหยุดการบริการ” ออกไป เนื่องจากแพทย์เมื่อแพทย์ได้ทำหัตถการใดกับผู้ป่วยแล้ว เช่น ใส่เครื่องช่วยหายใจ แพทย์ไม่สามารถดำเนินการถอดเพื่อให้คนไข้ตายเร็วขึ้น เพราะแม้แพทย์ไม่ถอดคนไข้ก็จะเสียชีวิตอยู่แล้ว ทั้งนี้ การถอดเครื่องช่วยหายใจจะทำได้ใน 2 กรณีเท่านั้น คือ ผู้ป่วยเสียชีวิตและผู้ป่วยอาการดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น