xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ลงนามคุมนำเข้าอาหาร 9 จ.ญี่ปุ่น เสี่ยงปนเปื้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
“จุรินทร์” ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยเฉพาะอาหารที่ผลิตจาก 9 จังหวัด ได้แก่ ฟูกุชิมะ, กุมมะ, อิบารากิ, โทจิงิ, มิยางิ, โตเกียว, ชิบะ, คานากาวะ และ ชิซูโอกะ ต้องแสดงหลักฐานการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานของรัฐ คาด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25ก.ค.ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารกัมตรังสี พ.ศ.2554 เพื่อควบคุมมาตรฐานอาหาร และคุ้มครองสุขภาพประชาชนไทยให้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย

นายบุณย์ธีร์ กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว กำหนดให้อาหารนำเข้าประเทศไทยทุกประเภทยกเว้นวัตถุเจือปนอาหาร วัตถุแต่งกลิ่นรส วัตถุที่ใช้รักษาคุณภาพอาหาร ที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ในเขตพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ฟูกุชิมะ, กุมมะ, อิบารากิ, โทจิงิ, มิยางิ, โตเกียว, ชิบะ, คานากาวะ และ ชิซูโอกะ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยตรวจพบได้ไม่เกินค่ากำหนด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรฐานอาหารปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี 2 ชนิด ลงวันที่ 11 เมษายน 2554 ได้แก่ ไอโอดีน-131 (Iodine-131) กำหนดไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม หรือเบคเคอเรลต่อลิตร และซีเซียม-134 (Cesium-134) และ ซีเซียม-137 (Cesium-137) รวมกัน ไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม หรือเบคเคอเรลต่อลิตร โดยคาดว่า จะสามารถประกาศในราชกิจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ภายในต้นเดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผู้นำเข้าอาหารจากพื้นที่ 9 จังหวัดที่กล่าวมา จะต้องแสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ที่ประจำด่านนำเข้าทุกครั้ง โดยระบุประเภท ชนิดอาหาร ปริมาณสารกัมมันตรังสี และพื้นที่ผลิตอาหาร จากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ได้แก่ 1.หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศญี่ปุ่น 2.หน่วยงานอื่นที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบของญี่ปุ่น 3.ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐ 4.ห้องปฏิบัติการที่ได้รับมอบหมาย หรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐ 5.ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐานสากล

นายบุณย์ธีร์ กล่าวต่อว่า ผู้นำเข้าอาหารจากพื้นที่อื่น นอกเหนือจาก 9 จังหวัดที่กล่าวมาข้างต้น ต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้าที่มีการ เพาะปลูก หรือเพาะเลี้ยง หรือผลิตในเขตดังกล่าว ซึ่งออกโดยหน่วยงานของรัฐของประเทศญี่ปุ่น หรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศญี่ปุ่น หรือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรม (Chamber of Commerce and industry) ของประเทศญี่ปุ่น แสดงที่ด่านนำเข้าทุกครั้ง กรณีไม่มีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้า ผู้นำเข้าอาจใช้หลักฐานแสดงผลการตรวจวิเคราะห์ ระบุประเภท ชนิดอาหาร และปริมาณกัมมันตรังสี จากหน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐ หรือ ห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองความสามารถมาตรฐานสากล แทนก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น