xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มประสิทธิภาพตรวจเด็กคลอดจากแม่ที่ติดเอชไอวี ช่วยคุณภาพชีวิตดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กรมวิทย์ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี ในเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อ ชี้ ใช้งานง่าย มีความไวและความจำเพาะสูง แถมราคาถูกกว่าต่างประเทศถึง  10 เท่า อยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า-ให้บริการฟรี
 

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันพัฒนาเทคนิค In-house DNA-PCR เป็นเทคนิคในการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อ ซึ่งมีประสิทธิภาพดี  ขั้นตอนการปฏิบัติงานง่าย สะดวก รวดเร็ว มีความไว และความจำเพาะสูง และมีราคาถูกกว่าชุดน้ำยาสำเร็จรูปที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 5-10 เท่า นอกจากนี้ ในปี 2555 จะสามารถให้บริการได้กับสิ่งส่งตรวจที่เก็บบนกระดาษซับเลือด (Dried Blood Spot; DBS) เพื่อช่วยแก้ปัญหากรณีเจาะเลือดได้ยากปริมาณเลือดน้อย ซึ่งการเก็บและจัดส่งตัวอย่างแบบDBS สะดวกส่งได้ทางไปรษณีย์ และให้บริการได้ครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกล

ทั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายห้องปฏิบัติทั้งกระบวนการ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการ ให้เข้าถึงบริการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีด้วยวิธี PCR ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ผ่านเครือข่ายห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 13 แห่ง ที่ได้การรับรองคุณภาพทางห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO:15189: 2007 ครบทุกแห่ง

รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิจัยทางคลินิก ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จัดเตรียมและสนับสนุนชุดทดสอบ ดำเนินการทดสอบความชำนาญการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Inter-lab comparison) ตามแนวทางมาตรฐาน ISO 17043 พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ที่ทีมนักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาขึ้นให้กับเครือข่ายห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี ด้วยวิธี PCR ในเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อ การบริการดังกล่าวเป็นหนึ่งในชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งให้บริการตรวจฟรี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ    จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึงปัจจุบัน เฉพาะปี 2553   ได้ให้บริการตรวจไป 4,200 ตัวอย่าง ให้ผลบวกคิดเป็นร้อยละ 2.74 นับเป็นความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรมตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการรณรงค์การลดอัตราการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก

โดยมีเป้าหมายให้เหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 3 จากเดิมที่สูงถึงร้อยละ 15 และในปี 2554 กระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นนโยบายให้เด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อทุกคนต้องได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีให้เร็วที่สุด ด้วยวิธี PCR หรือตามนิยาม (Early Infant Diagnosis: EID) ซึ่งแนะนำให้ตรวจครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 1-2 เดือน และตรวจซ้ำครั้งที่สองเพื่อยืนยันผลภายใน 4-6 เดือน ส่งผลให้แพทย์ใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการดูแลรักษาเด็กที่ติดเชื้อได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิผล

นพ.สมชาย  แสงกิจพร  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิก กล่าวว่า หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ตระหนักและให้ความสำคัญ กับการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีในทารกให้เร็วที่สุด คือ ภายใน 2-4 เดือน โดยการนำเทคนิควิธี PCR มาใช้ ซึ่งเป็นเทคนิคในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ แม้มีเชื้อโรคในตัวอย่างที่ส่งมาตรวจน้อยก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ โดยการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ (DNA) ให้ได้เป็นล้านเท่าภายในเวลาอันรวดเร็วทำให้ไม่ต้องรอผลการตรวจทางซีโรโลยี ที่ต้องรอให้เด็กมีอายุครบ 18 เดือน และช่วยให้เด็กที่ติดเชื้อจำนวนมากไม่เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว มีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีบทบาทภารกิจในการวิจัยและพัฒนาเมื่อได้เทคโนโลยีและ/หรือนวัตกรรมใหม่ก็มีนโยบายที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุขที่มีศักยภาพสามารถรับการถ่ายทอดและนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป และเน้นย้ำให้เครือข่ายห้องปฏิบัติการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้ประชาชนได้รับการวินิจฉัย/รักษา และป้องกันโรคที่ถูกต้อง รวดเร็ว มีสุขภาวะที่ดี มีมาตรฐานบริการครอบคลุมและให้บริการได้ความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ สอดรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและความต้องการของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น