พบผู้ป่วยสิทธิประกันสุขภาพฯ ร้องเรียนปัญหาจากสถานบริการสาธารณสุขของเอกชน พุ่งกว่า 3 พันกรณี ภาครัฐ-เอกชน เร่งหาทางสะสางปัญหา ด้าน ผอ.รพ.มุงกุฏฯ เสนอรัฐจัดบริการสังคมสงเคราะห์ช่วยผู้ป่วยไร้ญาติ หลังเผชิญปัญหาผู้ป่วยพุ่ง
วันนี้ (28 ก.ค.) ที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย เชิงสะพานหัวช้าง กทม.เครือข่ายรัฐสวัสดิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือของหน่วยบริการเอกชน : ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หวังยกระดับความร่วมมือของโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน”
โดยน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผั้บริโภค กล่าวว่า จากปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของการรับบริการด้านสาธารณสุขในหน่วยงานบริการเอกชนผ่านสายด่วน 1330 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ระหว่างเดือน ต.ค.2553 - มิ.ย.2554 นั้น พบว่า มีการร้องเรียนสูงถึง 3,165 กรณี แบ่งประเด็นมาตรฐานการให้บริกาสาธารณสุข จำนวน 532 กรณี เช่น พบว่า แพทย์วินิจฉัยโรคผิดพลาด และไม่ได้รับการส่งต่ออย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ประเด็นไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร 707 กรณี เช่น รอรับบริการนาน ประเด็นถูกเรียกเก็บเงิน 702 กรณี เช่น การนอนโรงพยาบาลแล้วถูกเรียกเก็บค่าเตียงนอน และไม่ได้รับบริการตามสิทธิที่กำหนด 1,224 กรณี เช่น ไม่สามารถเลือกหน่วยบริการใกล้บ้านไม่ได้
“จากปัญหาหลายประการที่พบนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาทางออกที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเร่งสำรองเตียงนอนสำหรับผู้ป่วยเพื่อรองรับผู้ป่วยในอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งในต่างประเทศมีระบบบริการเตียงสำรองแล้ว แต่ไทยยังล่าช้า ดังนั้นต้องเร่งยกระดับมาตรฐานดังกล่าว” น.ส.สารี กล่าว
ด้าน นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ รักษาการผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กทม. กล่าวว่า จากข้อมูลของ สปสช.เขต 13 นั้น มีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งหมด 29 แห่ง ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ใน กทม.ส่วนกลาง แต่ในส่วนของเขตนอกๆ นั้น อาทิ เขตทวีวัฒนา บางขุนเทียน ยังไม่ค่อยมี สำหรับในต่างจังหวัดนั้นก็มีประปราย ราวจังหวัดละ 1 แห่ง ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลที่โรงพยาบาลไม่ค่อยเข้าร่วมเท่าที่เคยรับฟังมา น่าจะเป็นเพราะกังวลว่าผู้ป่วยจะเข้ารักษาตัวด้วยโรคที่แทรกซ้อน และโรคที่รักษายาก เกรงว่าจะต้องรับภาระที่หนักเกินควร อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ บอร์ด สปสช.พยายามที่จะประคองโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมในระบบให้อยู่ต่อนานๆ โดยคาดหวังว่า เพื่อจะได้แก้ปัญหาเรื่องเตียงไม่พอได้ แต่ถ้าเชิญชวนให้ รพ.ใหม่ เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นก็จะมีศักยภาพในการแข่งขันด้านบริการได้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในการเพิ่มค่าหัวของผู้ป่วยระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในปี 2555 เป็น 2,895 บาท น่าจะเป็นแรงจูงใจให้สถานบริการเอกชนเข้ามาสนใจเข้าร่วมระบบมากขึ้น
ด้าน พลตรี. นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ รพ.มงกุฏวัฒนะ กล่าวว่า ทาง รพ.ได้เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพกับ สปสช.มานานกว่า 1 ปี ซึ่งมีผู้ป่วยในสิทธิต่างๆ เข้ามาใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่มีผู้ป่วยราว 5 หมื่นรายต่อปี ต้องมารับเพิ่มกว่า 2 แสนราย สิทธิของระบบหลักประกันสุขภาพที่เพื่มขึ้นส่งผลให้ปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น กรณีการคลอดบุตรของเด็กและวัยรุ่น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในเด็กแรกเกิดที่มีโรคแทรกซ้อน ส่งผลให้ รพ.จำเป็นต้องเปิดบริการศูนย์ทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤติมากถึง 22 ศูนย์ และบางครั้งเจอผู้ป่วยโรคร้ายแรง เช่น วัณโรค โรคเอดส์ ในผู้ป่วยไร้ญาติ และถูกทอดทิ้ง เหล่านี้ทำให้ รพ.ต้องแบกรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่อยากเสนอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือรัฐบาลก็ คือ ควรมีการเปิดบริการกองทุนสุขภาพในเชิงสังคมสงเคราะห์ด้วย เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหาสุขภาพแต่ไม่มีกำลังจ่ายค่ารักษาพยาบาล
“แน่นอนว่า ในผู้ป่วยทั่วไป โรงพยาบาลเชื่อว่ายังสามารถช่วยเหลือได้ แต่การที่จะต้องมาแบกรับปัญหาคนไร้ญาติ และปัญหาเรื่องแม่คลอดบุตรในวัยรุ่น ก็ถือว่าเผชิญภาระงานที่ ดังนั้น ในฐานะตัวแทน สถานบริการเอกชน คิดว่า รัฐบาลน่าจะเล็งแก้ปัญหานี้ เพื่อความมั่นคงของระบบ” พลตรี นพ.เหรียญทอง กล่าว