กกจ.เตรียมนำร่องส่งคนงานไทยไปทำงานประเทศปาปัวนิวกินี ชุดแรก 70 คน ตามโครงการสินเชื่อเพื่อการไปทำงานต่างประเทศ กับธนาคารกรุงไทยก่อน คาดอีก 2 เดือนได้ข้อสรุปชัดเจน
วันนี้ (20 ก.ค.) นางดวงมน บูรณฤกษ์ รอง อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการหารือกับบริษัทจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ 4 แห่ง และธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง ทั้งธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อ เพื่อการไปทำงานต่างประเทศว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมก่อนส่งเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ร่วมกับกรมการกงสุล และบริษัทจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศในการเดินทางไปเจราจากับนายจ้างชาวเกาหลีที่แจ้งความประสงค์ต้องการแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศปาปัวนิวกินี จำนวน 790 คน ในการไปทำงานก่อสร้างโรงแยกก๊าซ เนื่องจากจะมีการนำร่องส่งคนงานจำนวน 70 คนไปเป็นชุดแรก ซึ่งจะต้องมีการเจรจาในเรื่องการส่งเงินกลับประเทศของบริษัทนายจ้าง โดยให้ส่งให้แก่ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ คือ ธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เพราะแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศปาปัวนิวกินีนั้น จะต้องกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
“คาดว่าหลังการเดินทางไปเจรจากับนายจ้างที่ประเทศปาปัวนิวกินี ในระหว่างวันที่ 26-30 กรกฎาคมนี้ เช่น การขอให้ระบุไว้ในสัญญาจ้างให้มีการหักเงินเดือนส่งชำระหนี้เงินกู้ธนาคารในโครงการ ทั้งนี้ จากนั้นอีก 2 เดือนถัดมา หรือประมาณเดือนตุลาคมนี้ จะเริ่มมีความชัดเจนในข้อตกลงของสัญญาการกู้เงินโครงการฯ รวมทั้งวิธีการส่งเงินกลับประเทศไทยของแรงงานไทยด้วย” รองอธิบดี กกจ.กล่าว
นางดวงมนกล่าวต่อไปว่า ผู้ที่จะกู้เงินจากโครงการได้ต้องเป็นคนไทยที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งธนาคารที่เข้าร่วมโครงการปล่อยกู้รายละ 1.5 แสนบาท โดยผู้กู้ไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่บริษัทจัดหางานซึ่งเป็นผู้จัดส่งไปทำงาน จะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ร้อยละ 15 ของวงเงินที่อนุมัติ หากผู้กู้ยื่นกู้ภายในเดือนตุลาคม 2554 ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปี และผ่อนชำระหนี้เงินกู้เป็นรายเดือนไม่เกิน 18 เดือน หรือไม่เกินอายุสัญญาจ้างโดยนายจ้างจะหักเงินค่าจ้างของผู้กู้เพื่อชำระหนี้เงินกู้ธนาคารตามข้อตกลง