xs
xsm
sm
md
lg

เห็นชอบร่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เชื่อมโยงระบบการศึกษา 9 ระดับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
อนุฯสภาการศึกษา เห็นชอบร่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เชื่อมโยงระบบการศึกษา 9 ระดับที่แบ่งตามความรู้และคุณลักษณะพึงประสงค์

นางสุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ในการแบ่งระดับคุณวุฒิ ขอบเขตความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ออกเป็น 9 ระดับ เพื่อให้เป็นมาตรฐานระดับชาติในทุกสาขาวิชาในการผลิตบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและสามารถเทียบเคียงกับนานาประเทศรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ปัจจุบันการพัฒนากรอบคุณวุฒิของประเทศไทยจัดทำแล้วในระดับอุดมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา ส่วนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่กรอบที่จะเป็นร่มใหญ่เพื่อเชื่อมโยงระบบการศึกษาทุกระดับยังไม่มี

ดังนั้น สกศ.จึงนำเสนอร่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเพื่อพิจารณา ซึ่งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศพิจารณาเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นกรอบที่จะเชื่อม โยงคุณวุฒิทางการศึกษาตามเกณฑ์ระดับการเรียนรู้ในแต่ละระดับประเภทและสาชาวิชา กับคุณวุฒิวิชาชีพตามเกณฑ์ระดับความสามารถในการปฏิบัติงานของกลุ่มอาชีพต่างๆ ยกระดับคุณค่าของผู้มีความสามารถ หรือสมรรถะในการปฏิบัติงาน โดยแบ่งตามความรู้ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็น 9 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 มัธยมศึกษาตอนต้น-ทักษะอาชีพ ระดับ 2 มัธยมศึกษาตอนปลาย-ทักษะอาชีพ ระดับ 3 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับ 4 อนุปริญญา/ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระดับ 5 ปริญญาตรี ระดับ 6 ประกาศนียบัตรบัณฑิต ระดับ 7 ปริญญาโท ระดับ 8 ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง และระดับ 9 ปริญญาเอก และจะต้องมีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่เทียบโอนคุณวุฒิและประสบการณ์ ติดตาม ประเมิน และพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รวมถึงทำการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรายละเอียดของกรอบคุณวุฒิในแต่ละระดับ อาทิ ในระดับ ม.ต้น-ทักษะอาชีพ จะต้องมีความรู้พื้นฐานในการเขียน อ่าน พูด สื่อสาร การคำนวณ จะต้องมีทักษะในการทักษะการคิด ระดับ ปวช.จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการ วิธีการ ทฤษฎีในสาขาวิชาชีพเฉพาะภาษาอังกฤษในวิชาชีพ และความรู้พื้นฐานทางไอซีที มีทักษะในการเชื่อมโยงความรู้ไปสู่งานใหม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเฉพาะทางในวิชาชีพ ระดับ ป.ตรี จะต้องมีความเข้าใจในวิชาชีพเชิงลึก พัฒนาการเรียนรู้ทางวิชาการ และการบริหารระดับกลาง มีทักษะในการวางแผนการบริหารพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การใช้ภาษาอังกฤษและไอซีที เพื่อติดต่อสื่อสารในระดับสากล ระดับ ป.เอก จะต้องมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาการบริหารจัดการบริหารองค์กร มีทักษะในการคิดค้นพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับชาติและนานาชาติเพื่อการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น