นครปฐม - คณะเภสัช มหาวิทยาลัยศิลปากร เร่งผลิตยาแก้น้ำกัดเท้า เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชนที่ประสบอุทกภัย โดยได้รวมพลังจิตอาสาจากคณะอาจารย์ นักศึกษา และภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนตัวยาและอุปกรณ์ อย่างเต็มที่
ภญ.รศ.ดร.จุไรรัตน์ นันทานิช คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นองค์กรสร้างปัญญาทางเภสัชศาสตร์สู่สังคมระดับนำของประเทศ จึงมีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นการให้บริการด้านวิชาการและวิชาชีพสู่สังคม โดยได้ช่วยในการประสานงานและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการโครงการครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม คณะฯได้รับบริจาคสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยา มาสมทบจากหน่วยงานภาคเอกชน ศิษย์เก่า และผู้มีจิตศรัทธา เพื่อสนับสนุนกิจกรรมจิตอาสาในครั้งนี้ ซึ่งกิจกรรมจิตอาสาครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาเภสัชศาสตร์ทุกระดับชั้น เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเพื่อป้องกันโรคน้ำกัดเท้าภัยอย่างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ภญ.ผศ.ดร.สุชาดา พิริยะประสาธน์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม กล่าวว่า “เมื่อได้ทราบข่าวปัญหาสุขภาวะของผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม ทางภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรมจึงได้จัดทำโครงการผลิตยาขี้ผึ้งสำหรับน้ำกัดเท้าเพื่อมอบให้กับชุมชนที่ประสบภัยในภูมิภาคต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ และเพื่อเป็นบริการทางวิชาการแก่สังคม โดยได้กำลังสำคัญจากคณาจารย์ของคณะเภสัชกร ได้มีความห่วงใยในสุขภาพของผู้ประสบภัยน้ำท่วม นอกจากนี้ยังเป็นการบูรนาการงานด้านการจัดการเรียนการสอนและการมีจิตสาธารณะกับกิจกรรมของนักศึกษา และหวังว่าคณะฯ จะสามารถเป็นที่พึ่งพึงในเรื่องยาและสุขภาพต่อชุมชนได้
ภญ.ผศ.ดร.สุชาดา กล่าวอีกว่า ในด้านตัวยาที่ผลิตครั้งนี้ มี 2 ประเภท คือ ยาทาป้องกันน้ำกัดเท้าแบบวาสลีน และ ยาทาแก้โรคน้ำกัดเท้าแบบขี้ผึ้ง โดยที่ ภญ.ผศ.ดร.พนิดา อัศวพิชยนต์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม หัวหน้าทีมการผลิตยาครั้งนี้ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวยาและการใช้ยาว่า “จากที่สภาเภสัชกรรมได้เคยสอบถามขอความร่วมมือจากคณะฯ เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยเมื่อปีที่แล้วทางคณะฯ จึงเริ่มผลิตยาเพื่อส่งไปช่วยเหลือแต่ในครั้งนั้นผลิตจำนวนไม่มากนักซึ่งต่างจากครั้งนี้ที่ภัยธรรมชาติหนักกว่าครั้งอื่นๆ
ทางคณะฯจึงเริ่มขอรวบรวมพลังจิตอาสาจากนักศึกษาทุกระดับชั้นเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต ในด้านสูตรตำรับยาอ้างอิงจากเภสัชตำรับประเทศอังกฤษ (British Pharmacopeia) ที่ใช้สอนนักศึกษาเภสัชศาสตร์อยู่แล้ว ตัวยามีส่วนประกอบของกรดเบนโซอิก (benzoic acid) ที่มีผลในการฆ่าเชื้อรา และกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) ที่ช่วยลอกผิวหนังที่เป็นขุย สะเก็ด หรือปื้นขาว ทำให้ตัวยาฆ่าเชื้อราออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น สูตรที่เราผลิตมีจุดเด่นคือเป็นลักษณะขี้ผึ้งทนน้ำและราคาถูก” ท่านอาจารย์ยังฝากถึงผู้ได้รับหรือใช้ยาอีกว่า “ตัวยาที่คณะฯ ผลิตมี 2 ตัวยาคือยาสำหรับป้องกันที่เป็นวาสลีนใช้ทาก่อนจะลุยน้ำเพื่อลดการโดนน้ำกัดเท้า และตัวยาที่ใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าสำหรับทาบริเวณที่มีอาการคัน แดงและลอกของผิวหนังที่ถูกน้ำกัดเท้า ก่อนใช้ควรอ่านฉลากให้ชัดเจนและถูกต้องกับอาการก่อนใช้ โดยยาที่ผลิตมีอายุประมาณ 1-2 ปี สามารถเก็บไว้ใช้หลังน้ำท่วมได้สำหรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่กับความชื้นหรือเสี่ยงกับการเป็นโรคน้ำกัดเท้า”
โดยการผลิตยาครั้งนี้คณาจารย์ นักศึกษา และนักวิทยาศาสตร์ของคณะฯ ช่วยกันเตรียม ผลิต และ บรรจุ กว่า 30,000 ตลับ ก่อนกระจายสู่ผู้ประสบอุทกภัย โดยผู้ประสบภัยหรือหน่วยงานสามารถติดต่อร้องขอความต้องการได้โดยผ่านคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นางสาวสมกมล แม้นจันทร์ นักศึกษาบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวเภสัชกรรม หนึ่งในผู้ร่วมแสดงจิตอาสาในครั้งนี้โดยเป็นตัวแทนจากนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา บอกว่า “เมื่อมีการประกาศขอรับสมัครนักศึกษาเพื่อช่วยกิจกรรมจิตอาสาครั้งนี้ ตัวเองและเพื่อนๆ ไม่ลังเลเลยรีบแสดงความจำนงในการเข้าร่วม โดยที่พี่ๆ ป.เอก และ ป.โท จะเริ่มจัดเตรียมและมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะถึงวันผลิตยาจริง
โดยมีหน้าที่ในการควบคุมน้องๆ ป.ตรี ในการเตรียมส่วนประกอบ ผสม และกระบวนการทำยาในขั้นตอนต่างๆ รวมถึงลงมือทำเองด้วย จากทักษะที่ได้เคยเรียนมา และรู้สึกภูมิใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในครั้งนี้ถึงแม้ตัวเองจะไม่สามารถลงไปช่วยได้ถึงพื้นที่ประสบภัย แต่ก็ดีใจที่จะได้ส่งยาจากฝีมือเภสัชกรของศิลปากร ไปช่วยบรรเทาอาการน้ำกัดเท้าและป้องกัน ให้กับประชาชนที่กำลังประสบอุทกภัยในครั้งนี้ซึ่งถือว่าหนักมากจริงๆ คะ”
ในการผลิตยาป้องกันและแก้โรคน้ำกัดเท้าของคณะฯ ในครั้งนี้ ถือว่าได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาที่มีความมุ่งมั่นจะช่วยเหลือผู้เดือนร้อนอย่างจริงใจ ซึ่งแต่ละคนเห็นความเคลื่อนไหวผ่านสื่อต่างๆ และบางคนบ้านของตัวเองก็ได้รับผลกระทบบ้างแต่อาจจะยังไม่หนักเท่ากับพี่ๆ น้องๆ ในจังหวัดที่แม่น้ำหลักๆ ไหลผ่าน เช่นพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี นครสวรรค์ ปทุมธานี หรือไม่เว้นแม้แต่บางอำเภอของจังหวัดนครปฐมเอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย ถึงแม้ว่าที่วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อาจยังไม่ได้รับผลกระทบแต่การทำกิจกรรมจิตอาสาครั้งนี้ถือว่าจะสามารถช่วยให้ผู้ประสบภัยไม่มากก็น้อยสามารถรักษาโรคน้ำกัดเท้าในเบื้องต้นได้เพราะในภาวะเช่นนี้การหลีกเลี่ยงไม่ให้ลุยน้ำคงเป็นไปได้ยาก
นางสาวไพลิน รัฐศาสตร์วาริน นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 หนึ่งในผู้มีจิตอาสาครั้งนี้ กำลังบรรจงบรรจุตัวยาที่ผลิตเสร็จพร้อมจัดกระจายอย่างตั้งใจและจากการที่ได้ร่วมทำงานกับเพื่อนๆ จึงทำให้ น้องไพลิน ลงแรงไปด้วยความสุขทั้งที่ได้ช่วยเหลือและยังได้สนุกกับเพื่อนๆ ในการทำงานร่วมกันอีกด้วย
“นับเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาร่วมทำงานกันเป็นทีมกับคนเยอะๆ ขนาดนี้ยังไม่เคยทำที่ไหนเลย ปกติก็ได้เจอกันในชั้นเรียน แต่นี้เหมือนได้ทำ lab ใหญ่ และก็ยังได้ทำงานร่วมกับพี่ๆ ป.โท ป.เอก แล้วก็พี่ๆ นักวิทย์ ส่วนอาจารย์ก็มาดูแลนักศึกษาด้วยความอบอุ่นไม่เหมือนกับในชั้นเรียน และยังได้เห็นความจริงใจของแต่ละคนที่ตั้งใจจะมาช่วยด้วยคะ อีกอย่างผู้ประสบภัยก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนยาที่เราผลิต และนำไปแจกด้วยคะเพราะเขาก็ลำบากมากอยู่แล้ว แล้วก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของหนูด้วยที่คณะเปิดโอกาสให้มาช่วยทำงานได้เรียนรู้กระบวนการทำงานและได้ส่งผลงานที่เราผลิตกันสู่ประชาชนจริงๆ ใช้รักษาได้จริง ให้ประสบการณ์มากกว่าในห้องเรียนคะ” ไพลินพูดด้วยทีท่าที่เป็นกันเองกับผู้สื่อข่าว
จากความตั้งใจ ร่วมแรงร่วมใจและมีจิตอาสาในการร่วมกันผลิตยาเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาโรคน้ำกัดเท้าของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจไม่ใช่ส่วนใหญ่ที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้ประสบภัยได้แต่นี่คือกำลังใจสำคัญที่มีความมุ่งมั่นอยากช่วยเหลือสังคม จากองค์กรวิชาการด้านการศึกษาอาจมีกำลังจำกัดในการผลิต ทั้งด้านแรงงาน งบประมาณ และอื่นๆ แต่ถ้าได้การสนับสนุนทั้งกำลังกาย กำลังใจ จากหน่วยงานอื่นๆ การผลิตยาครั้งนี้อาจจะกลายเป็นกำลังหลักสำคัญที่จะช่วยผู้ประสบภัยในเรื่องที่เกี่ยวเวชภัณฑ์เพื่อบรรเทาหรือรักษาโรคที่มากับน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การต้องขอขอบคุณบริษัทเมดิซีนโปรดักส์จำกัด บริษัทบางกอกแล็ปแอนด์คอสเมติค บริษัทซองเดอร์ ที่มอบทั้งสารเคมี ตัวยาสำคัญ ตลับใส่ยา ฉลากยา รวมทั้งเงินสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ทั้งจากคณะเภสัชศาสตร์ คณาจารย์ ศิษย์เก่า และผู้มีจิตสาธารณะทุกท่าน ที่ได้ร่วมในการดำเนินการในด้านจิตอาสา ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนอีกจำนนมากที่ต้องการยาซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งในช่วงของอุทกภัยที่เกิดขึ้น