xs
xsm
sm
md
lg

สืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้าน “ร้อง-เล่า-แหล่-เล่น” พัฒนาเด็กไทย

เผยแพร่:

“...ชักช้ากันอยู่ทำไม มาเที่ยวบ้านคุณตาสำอางกันดีกว่า บ่ายสี่โมงเย็นแล้วเราก็มา บ่ายสี่โมงเย็นแล้วเราก็มา มาฟังนิทานดีกว่า กันสนุกสุขใจ คุณลุงคุณป้าคุณตาคุณยายมีนิทานมากมายมาเล่าให้ฟัง เด็กเด็กจงตั้งใจฟัง เด็กเด็กจงตั้งใจฟัง อย่างส่งเสียงดังเดี๋ยวไม่ได้ฟังนิทานดี ในนิทานนั้นมีเรื่องราวชวนคิด ให้หนูเป็นเด็กดีมีคติเตือนใจ หนูจ๋าจงรักการอ่าน เรื่องในนิทานสอนให้เป็นคนดี เล่าอ่านเล่นสนุกด้วยซี เล่าอ่านเล่นสนุกด้วยซี แม้แต่พระองค์ทีก็ยังฟังนิทานไทย...”


เสียงร้องในท่วงทำนองเพลงลำตัดของ คุณยายสวาสดิ์ เผ่าชวด เป็นสัญญาณเตือนให้เด็กๆ ทุกคนใน หมู่บ้านบ้านคา ตำบลดงขวาง มารวมตัวกันบริเวณลานกว้างใต้ต้นมะขามใหญ่ในบ้านของ คุณตาสำอาง พึ่งครุฑ เพื่อเตรียมตัวฟังนิทานและกิจกรรมดีๆ ที่เหล่า “วิทยากรกระบวนการสานสายใยรัก” จะนำมาบอกเล่าใน “ลานนิทานกลางบ้าน” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ในตำบลแห่งนี้


ลานนิทานกลางบ้าน หรือในอีกชื่อหนึ่ง คือ “ลานนิทานสุขสำราญศาลากลางบ้าน” เป็นกิจกรรมที่ทาง องค์การบริหารส่วนตำบลดงขวาง อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี ร่วมกับ ศูนย์ 3 วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัวตำบลดงขวาง จัดขึ้นเพื่อต่อยอดขยายผลการจัด “เวทีเรียนรู้พ่อแม่” จาก “โครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก” ที่ดำเนินงานโดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อสืบสานพระปณิธานของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวที่มีส่วนในการสร้างเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ
นายนิคม บุญกมุติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงขวาง กล่าวถึงการจัดลานนิทานกลางบ้านที่หมุนเวียนไปจัดกิจกรรมให้แก่เด็กๆ ทั้ง 6 หมู่บ้านในตำบลว่า เป็นการขยายผลการจัดเวทีเรียนรู้พ่อแม่ภายใต้การดำเนินงานโครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูกในชุมชนมาตั้งแต่ปี 2553


“คณะวิทยากรกระบวนการได้เห็นประโยชน์และความสำคัญของการส่งเสริมการพัฒนาเด็กเล็กในด้านต่างๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสิตปัญญา จึงมีแนวคิดที่จะขยายผลการทำงานออกไปจัดลานนิทานในแต่ละหมู่บ้าน โดยทาง อบต.ได้ให้ความร่วมมือการจัดกิจกรรมทุกครั้ง เราคาดหวังให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการเล่า อ่าน เล่น และในลานนิทานกลางบ้านที่จัดขึ้นนั้น ไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบเหมือนกับการอบรม แต่เน้นให้มีบรรยากาศสบายๆ ตามธรรมชาติ และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาร่วมในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งด้วย” นายนิคม ระบุ


โดยบรรยากาศในลานนิทานกลางบ้านนั้น หลังจากเสียงเพลงร้องเรียกให้เด็กมารวมตัวกันแล้ว ก็มีจะมีกำหนดกติกาในการฟังนิทานร่วมกัน โดย “น้องเปา” หรือ นายศุภกร ภูศักดิ์ วัย 17 ปีที่ถึงแม้ร่างกายจะมีอุปสรรค์จากความพิการทางสายตา แต่ก็ยังมีจิตอาสามาช่วยให้คำแนะนำกับน้องๆ ทุกครั้งที่จัดงาน เพราะเห็นความสำคัญของนิทานที่สามารถสอดแทรกข้อคิดหรือคติเตือนใจให้กับเด็กๆ ได้

“เด็กๆ ทุกคนจะต้องทบทวนกติการ่วมกันก่อนฟังนิทานทุกครั้งคือ ต้องตังใจฟัง หากสงสัยให้ยกมือถาม ต้องกล้าแสดงออก หากทำผิดต้องกล้ายอมรับผิด ต้องรู้จักให้อภัยกันและกัน หลังจากเล่นแล้วต้องไปล้างมือให้สะอาด เมื่อกินขนมเสร็จแล้วต้องนำขยะไปทิ้งให้เป็นที่” น้องเปาบอกถึงกติกา


หลังจากพี่เปาพูดเด็กๆ ก็จะเริ่มใจจดจ่อกับเรื่องราวที่จะออกมาจากปากของ “คุณยายสวาสดิ์ เผ่าชวด” ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งในวันนี้ได้เลือกเอานิทานพื้นบ้าน “ดาวลูกไก่” มาเล่าผนวกไปกับการร้องในท่วงทำนองเพลงแหล่ สลับกับการพากย์เสียงของตัวละครต่างๆ จนผู้ฟังตกอยู่ในภวังค์
“นิทานเรื่องดาวลูกไก่จะช่วยปลูกฝังในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็ก โดยสอดแทรกให้เขาได้รู้จักพระคุณพ่อแม่ รู้จักความกตัญญูรู้คุณ รู้จักการตอบแทนผู้มีพระคุณต่อเราแม้ว่าจะไม่ใช่พ่อแม่ ซึ่งก่อนที่จะเลือกนิทานมาเล่าในแต่ละครั้งก็จะคิดก่อนว่านิทานเรื่องนี้จะทำให้เด็กฟังแล้วคติอะไรบ้าง เพราะเมื่อได้ฟังเด็กก็จะได้รับคติเตือนใจเหล่านี้ติดตัวไปตลอด” คุณยายสวาสดิ์ กล่าว


เมื่อนิทานจบเด็กๆ หลายคนถึงกับน้ำตาซึมกับความกตัญญูของแม่ไก่และความรักที่มีต่อแม่ของลูกไก่ จากนั้นวิทยากรกระบวนการฯ ก็เล่านิทานประกอบกับการวาดภาพเรื่อง “หนอนน้อยอยากออมเงิน” ที่จะช่วยสอนให้น้องๆ รู้จักในเรื่องการเก็บออม แล้วต่อด้วยการอ่านหนังสือนิทานเรื่อง “หมาแพนดี้กับหมีแพนด้า” ซึ่งจะช่วยปลูกฝังนิสัยการตรงต่อเวลาในการทำกิจกรรมต่างให้กับเด็กๆ


หลังจากนั้น ก็จะได้เวลาที่เด็กๆ ทุกคนรอคอยนั่นก็คือ “การเล่น” โดยวิทยากรกระบวนการได้จัดการละเล่นพื้นบ้านนานาชนิดอาทิ “มอญซ่อนผ้า” “โพงพาง” “ลูกช่วงลูกชัย” ฯลฯ มีการแข่งขัน “รถไสพาดบ่า” จากลูกตาล ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดอุทัยธานี และกิจกรรมที่เด็กผู้หญิงทุกคนแทบจะไม่พลาดนั่นก็คือการ “กระโดดเชือก” ที่ใช้เถาตำลึงจากธรรมชาติมาทำเป็นเชือก รวมไปถึงการร่วมกับ คุณตาสำอาง พึ่งครุฑ ทำกิจกรรมการ “ตอกลายกระดาษ” และการทำ “พวงมโหตร”


นางรัศมี หมั่นเขตรกิจ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลดงขวาง และวิทยากรกระบวนการ เล่าถึงการจัดลานนิทานกลางบ้านว่า โดยปกติแล้วจะจัดหมุนเวียนกันไปในแต่ละหมู่บ้านเฉลี่ยแล้วประมาณเดือนละ 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อย


“สิ่งที่เด็กๆ จะได้รับในการจัดลานนิทานกลางบ้านก็คือได้ความสนุก ได้ออกกำลังกาย ได้รู้จักการเข้าสังคม ได้ซึมซับข้อคิด คุณธรรม คติสอนใจ หรือสิ่งดีๆ จากนิทานเรื่องต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเป็นคนที่กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าพูดคุยซักถามกับผู้ใหญ่มากขึ้น และเรายังใช้เวทีตรงนี้ในการบอกเล่าเรื่องราวของการดูแลรักษาสุขภาพให้กับเด็กๆ รวมไปถึงผู้ปกครองได้อีกด้วย” นางรัศมี กล่าว


ด้าน นางนภัสวรรณ บุญกมุติ คุณแม่ของ “น้องปิงปอง” วัย 3 ขวบ เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมน้องปิงปองมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ อายุสองขวบแล้วก็ยังไม่พูด พอได้เข้าร่วมอบรมวิทยากรกระบวนการสานสายใยรัก ทำให้ได้รู้จักวิธีที่จะสร้างเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ ให้กับลูกของตนเอง


“เมื่อนำวิธีการต่างๆ มาใช้โดยให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วม น้องปิงปองก็มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว เลยอยากแบ่งปันประสบการณ์และอยากให้ครอบครัวอื่นเห็นความสำคัญในการดูแลบุตรหลานของตนเอง” คุณแม่น้องปิงปอง กล่าว


ลานนิทานสุขสำราญศาลากลางบ้าน จึงเป็นเสมือนพื้นที่แห่งการสานฝันปั้นเรื่องราว นำกระบวนการ เล่า อ่าน เล่น มาสร้างความรักความผูกพันระหว่างพ่อ แม่ ลูก อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของเด็กไทย เพื่อสร้างสรรค์สถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง และสังคมไทยที่มั่นคง
กำลังโหลดความคิดเห็น