“หมออรพรรณ์” เผยล่ารายชื่อเสนอปรับแก้ กฎหมายเกี่ยวกับระบบ สธ.ได้ 5 หมื่นคนแล้ว หวังอ้อนรัฐบาลใหม่ช่วยขับเคลื่อน ด้านภาคประชาชนวอนแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำ
พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายสาธารณสุข 2553 เปิดเผยว่า จากกรณีที่ระบบสาธารณสุขไทย ประสบกับปัญหาหลายด้านนั้น ทำให้บุคคลากรด้านสาธารณสุข(สธ.)หลายคนเห็นควรให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข และบุคลากรสาธารณสุข ซึงเป็นการแยกตัวบุคลากรสาธารณสุข ออกจากกพ.โดยมีมีคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข หรือ ก.สธ.ขึ้นมาแทน , ร่าง พ.ร.บ.จัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข เช่น ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพชาติอยู่ในสังกัด สธ.เป็นต้น และ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายอันเกี่ยวกับบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขและกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแจกแบบฟอร์มเข้าสื่อ เพื่อเสนอกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2553 โดยขณะนี้รวบรวมรายชื่อได้ราง 5 หมื่นรายชื่อ โดยตั้งใจไว้ว่าจะดำเนินการให้ได้ราว 1 แสนรายชื่อ
“อย่างไรก็ตาม ในการเกิดขึ้นของรัฐบาลใหม่นั้น เชื่อว่า บุคลากรสาธารณสุขทุกท่านคงจะไม่อยากเผชิญกับปัญหาเดิมๆ ทั้งเรื่องของโครงสร้างการเงินการคลังที่ระส่ำระส่าย ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของบุคลากร และสภาพคล่องทางการเงิน ของสถานบริการพยาบาล ดังนั้นสิ่งแรกที่อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาก็คือ เร่งปฏิรูประบบการสาธารณสุขโดยเร็ว” พญ.อรพรรณ์ กล่าว
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งสนับสนุน พ.ร.บ.ที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หลักๆ ได้แก่ พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค พ.ศ..... พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลากร สธ.และผู้ป่วย รวมทั้งเร่งดำเนินการเรื่องการปรับระบบบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะที่กำลังเป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำใน 3 ระบบ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบประกันสังคม
“แม้ว่าที่รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะก้าวขึ้นมา คือ ผู้ริเริ่มโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคก็ตาม แต่หากได้นั่งตำแหน่งผู้บริหารประเทศจริงๆ ควรมีการไตร่ตรองเรื่องของความเท่าเทียมด้วย เพราะทุกวันนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการรับบริการสาธารณสุขเป็นที่ถกเถียงกันมาก” นส.สารี กล่าว
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เรื่องนโยบายด้านการบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุนั้นก็มีการกล่าวถึงอย่างมาก ดังนั้น จึงควรมีการเพิ่มบำนาญแก่ประชาชนผู้สูงอายุบ้าง