xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง คกก.สปส.ออกโรง! เห็นพ้องชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สารี อ๋องสมหวัง
ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง คกก.สปส.ออกโรง! เห็นพ้องชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน ไม่จ่ายสมทบค่ารักษา นำเงินเข้าชราภาพแทน นัก กม.แนะควรฟ้อง 2 ศาล พร้อมล่ารายชื่อแก้ กม.ด้าน “สารี” งง สิทธิประโยชน์ สปส.ผ่านบอร์ดแล้ว แต่ยังใช้สิทธิไม่ได้ ต้องกลับไป คกก.อนุฯสิทธิประโยชน์ ส่วนสภาที่ปรึกษา ศก.รับเรื่องฝ่ายนายจ้าง สปส.ไม่จ่ายสมทบค่ารักษา พร้อมนำเรื่องไปศึกษา เสนอ ครม.ลั่นเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน

 

วันนื้ (23 มิ.ย.) โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ร่วมกับ สภาองค์การนายจ้างอีก 7 องค์กร และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดเสวนา เรื่อง ทำไมผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อให้ได้รับบริการทางด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน อ.ภูมิ มูลศิลป์ คณะนิติศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อ.วรพงษ์ รวิรัฐ คณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

 

น.ส.สารี กล่าวว่า ขณะนี้เป็นห่วงในเรื่องประสิทธิภาพของ สปส.อย่างหลังการประชุมบอร์ดได้ประกาศผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่ยังใช้ไม่ได้จริง มีการส่งเรื่องกลับไปที่คณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์เพื่อพิจารณาอีกครั้ง เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ป่วยก่อนเป็นผู้ประกันตน ตอนนี้เรื่องถูกส่งกลับไปให้คณะกรรมการการแพทย์พิจารณาเงื่อนไข ซึ่งเราตามเรื่องนี้มา 2 ปี แล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ใช้สิทธิตอนไหน ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำเรื่องนี้เพียงแค่ 6 เดือน

 

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การที่ต้องส่งเรื่องกลับไปที่คณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ เพราะ สปส.กลัวเงินในกองทุนไม่พอที่จะไปรักษา ซึ่งมีการพูดคุยว่าอาจจะต้องเพิ่มเงินสมทบ ส่วนเรื่องไตวายเรื้อรังนั้นได้มีการส่งเรื่องกลับไปที่คณะกรรมการการแพทย์ เพื่อพิจารณาเงื่อนไขให้สมบูรณ์ก่อนแล้วค่อยประกาศใช้ทีเดียว

 

“โดยส่วนตัวคิดว่า ควรทำเรื่องที่ง่ายกว่านี้ คือ เอาเงินส่วนค่ารักษาพยาบาล 2 หมื่นกว่าล้านต่อปีคืนมา แล้วจะให้ สปสช.เข้ามาจัดการรักษาหรือไม่นั้นก็ค่อยมาคุยกันอีกที แต่เงินในส่วนนี้เราสามารถไปเพิ่มสิทธิอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น ส่วนของชราภาพ หรืออาจจะนำเงินบางส่วนสัก 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปีมาเพิ่มต่อยอดการรักษาพยาบาลต่อไป  ซึ่งจะไม่กระทบกับประชาชนในส่วนอื่นๆ เพราะเงินส่วนนี้เป็นของผู้ประกันตน”

 

อ.ภูมิ กล่าวว่า การนำเรื่องนี้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะมีผลตัดสินเพียงว่าขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าจะให้มีผลบังคับใช้ในการหยุดจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาลนั้น ต้องฟ้องศาลปกครอง ซึ่งคิดว่าในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าควรยื่นไปพร้อมกันสองทาง ส่วนในระยะยาวนั้น มีอีกวิธีหนึ่งคือรวบรวมรายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยืนในการแก้ไขกฎหมาย

 

ด้าน นายสุทธินันท์ จันทระ ประธานคณะทำงานด้านการยุติธรรมฯ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดนี้ไปศึกษาต่อ และจะมีการจัดเสวนาภายในโดยอาจจะเชิญท่านที่มาในวันนี้เข้าร่วมด้วย เพื่อสรุปเรื่องเข้า ครม.

 

“การพูดคุยวันนี้จะไม่เสียเปล่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ แล้วแม้ว่าจะเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาแต่ก็ยังได้สิทธิ์น้อยกว่า ผมแม้จะไม่ได้เป็นผู้ประกันตนก็ยังรู้สึกรับไม่ได้” นายสุทธินันท์ กล่าว

 
กำลังโหลดความคิดเห็น