xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าป้องกันแก้ไขโรคพิษสุนัขบ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ประกาศนโยบายเดินหน้าป้องกันแก้ไขโรคพิษสุนัขบ้าในกรุงเทพฯ สัญญาณดียังไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม เน้นรณรงค์เข้มต่อเนื่องปี 54-55 ทั่วพื้นที่ ทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดไมโครชิป ปรับปรุง และพัฒนาศูนย์พักพิงสุนัขเขตประเวศ และทัพทัน จ.อุทัยธานี ลดจำนวนสุนัขจรจัดทั่วกรุง พร้อมกระตุ้นเตือน และส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสัตว์ด้วยความรัก และรับผิดชอบ

วันนี้ (29 มิ.ย.)ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานแถลงข่าว “ก้าวต่อไป สู่เป้าหมายปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” ประกาศนโยบายเดินหน้ารณรงค์ป้องกัน และกวาดล้างโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย ณ บริเวณสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม.เขตดินแดง เพื่อกระตุ้นเตือน และปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการเลี้ยงสุนัขและแมวด้วยความรับผิดชอบ ไม่ปล่อยปละละเลยหรือทิ้งขว้าง นำสุนัข และแมว รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี รวมถึงรับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตามระยะเวลา รวมถึงฉีดไมโครชิปให้สุนัข กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การแสดงความสามารถของสุนัขจากศูนย์พักพิงสุนัขกรุงเทพมหานคร ชมวิดีทัศน์ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าและการแก้ไขป้องกันปัญหาสุนัขจรจัดในกรุงเทพมหานคร สาธิตการฉีดไมโครชิปสุนัข บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำหมันสุนัขและแมวฟรี การสนทนาเรื่อง สัตว์เลี้ยงแสนรักกับดารา โดย แพนเค้ก เขมนิจ ตู่ นพพล และ ปรียานุช ปานประดับ การเสวนาเรื่อง การเลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ โดย นายแพทย์ ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ และเป็นปัญหาของประชาคมทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้รณรงค์และกำหนดเป้าหมายที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากทุกภูมิภาคของโลกภายในปี 2563

ทั้งนี้ กทม.มีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานกวาดล้างและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงป้องกัน แก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด ในปี 2554-2555 ดังนี้ ปรับปรุงศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดประเวศ ให้สามารถรองรับสุนัขได้มากขึ้นและถูกสุขลักษณะ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2555 อีกทั้งพัฒนาศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดประเวศ และศูนย์พักพิงสุนัขบ้านกึ่งวิถี อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสุนัข เช่น สายพันธุ์ นิสัย ความสามารถ การเลี้ยงดู เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูสุนัขอย่างเหมาะสม สร้างสวนสุนัข (Dog park) บนพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ใต้ทางด่วนแยกวัชรพล ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบและทำประชาพิจารณ์ คาดว่า สามารถสรุปผลได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ขยายพื้นที่การจัดกิจกรรมสัญจร ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 50 เขต ให้บริการทำหมันสุนัข-แมว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดไมโครชิป และจดทะเบียนสุนัข ขยายเครือข่ายสถานพักพิงสำหรับสุนัขในชุมชน (Community Shelter) และปรับปรุงระบบและกลไกการดำเนินงานของหน่วยสอบสวนควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาแหล่งโรคอย่างเร่งด่วนภายใน 24 ชั่วโมง นำสุนัขที่สัมผัสโรคมากักดูอาการเพื่อตัดวงจรการแพร่โรค เน้นการค้นหาคนที่ถูกสุนัขกัดหรือสัมผัสกับสุนัขที่เป็นโรค เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างครบถ้วน

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 53 กรุงเทพมหานครพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ารวม 7 ราย และเป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้ ยังไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ซึ่งในปี 53 สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เข้มข้นตลอดปี พร้อมจัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมกันทั้ง 50 เขต จำนวน 2 ครั้ง รวม 283,893 ตัว และคุมกำเนิดสุนัขที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของด้วยการทำหมัน รวม 29,046 ตัว

จากผลการสำรวจจำนวนสุนัขในเขตกรุงเทพมหานครปี 53 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีจำนวนสุนัขที่มีเจ้าของกว่า 590,000 ตัว และสุนัขไม่มีเจ้าของ กว่า 100,000 ตัว อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ อาทิ ถนน ตรอก ซอย และวัด 400 แห่ง โดยปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้นำสุนัขจรจัดที่สร้างปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญมาทำหมัน และนำไปเลี้ยงดูจนหมดอายุขัย ที่ศูนย์พักพิงสุนัขทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี จำนวน 5,456 ตัว

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.เพียงหน่วยงานเดียว ไม่สามารถดำเนินงานเพื่อกวาดล้างและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนให้เลี้ยงสุนัขและแมวด้วยความรัก ความเอาใจใส่ และรับผิดชอบ ก่อนซื้อหามาเลี้ยงต้องศึกษานิสัยใจคอ หรือพฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์เลี้ยงให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ อีกทั้ง มั่นใจว่าสามารถเลี้ยงดูได้จนสัตว์เลี้ยงหมดอายุขัย ไม่ใช่เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้วนำมาปล่อยตามสถานที่ต่างๆ สร้างความเดือดร้อน รำคาญใจแก่ผู้อื่นเป็นปัญหาสังคมต่อไป และขอให้เจ้าของนำสุนัขและแมวไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปีที่คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานครทั้ง 7 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง และหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ตามชุมชนต่างๆ สำหรับผู้ที่ถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน ควรล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดมากๆ และรีบไปพบแพทย์ขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครทั้ง 68 แห่ง โดยไม่เสียค่าบริการ หากพบสัตว์เลี้ยงสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้แจ้ง สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข โทร.0-2245-3311, 0-2248-7417 หรือ สายด่วน กทม. 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น