xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ตั้งคณะทำงานส่งเสริมจริยธรรมผู้ใช้ยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะอนุ กก.ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ตั้งคณะทำงานเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยา หวังคลอด กม.คุมเข้มการส่งเสริมการขายยา อุดช่องโหว่ บริษัทยาแอบมอบของขวัญให้บุคลากรสาธารณสุข เตรียมประชุมรับฟังความเห็น 26 ก.ค.นี้

แหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2553 เรื่อง ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม และได้มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินงาน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อ 2 ก.ย.2553 คณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ ได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลซึ่งมียุทธศาสตร์ย่อยส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยา และยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมเป็นประเด็นหนึ่งด้วย โดยจากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค.2554 คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ได้มีมติการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการจริยธรรมผู้สั่งใช้ยาฯ เพื่อดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่ สมัชชาได้มีมติไว้ โดยจะกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติไว้ในแนวทางเดียวกันเพื่อดูแลเรื่องการใช้ยาอย่างมีจริยธรรม
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า อนึ่ง หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ร่างเสร็จแล้ว ชื่อว่า “ร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทยกับการเปลี่ยนแปลงบทบาทและความสัมพันธ์ของแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรสาธารณสุขอื่น ๆ” มีสาระในการแยกยาออกจากสินค้าอุปโภค บริโภคอย่างอื่น จึงไม่ควรมีการส่งเสริมให้เกิดการบริโภคยาโดยไม่จำเป็น ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีความรู้ความเข้าใจและเกิดแนวทางการใช้ยาที่เหมาะสมของประชาชน สร้างสำนึกของผู้ผลิตยา ผู้ขายยา ตลอดจนผู้มีสิทธิสั่งใช้ยา จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนากฎหมายที่จะกำกับดูและการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณาที่เหมาะสม

“เกณฑ์นี้จะไม่ได้ออกมาเฉยๆ แต่จะมีการควบคุมที่ชัดเจนและอาจมีการผลักดันให้เกิดการใช้กฎหมายเกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป เช่น อาจจะกำหนดให้บริษัทยามีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดการจ่ายเงินหรือสิ่งของที่มีมูลค่าที่บริษัทเสนอแก่แพทย์ หรือโรงเรียนแพทย์ การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ให้ทำเป็นรายงานฉบับย่อ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต และทำเป็นประจำทุกปี มาตรการดังกล่าวกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2013 หากไม่ส่งรายงานจะมีโทษปรับทางปกครอง ซึ่งขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีกฎหมาย The Patient Protection and Affordable Care Act 2010 ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการส่งเสริมการขายยา ดังนั้น คิดว่า ประเทศไทยประสบปัญหาค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ค่ายาเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว จึงถึงเวลาจะต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องของส่งเสริมการขายยา การโฆษณายาที่ใช้วิธีการจูงใจ ด้วยกระบวนการส่งเสริมการขายและการโฆษณาในหลากหลายรูปแบบ ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรสาธารณสุขอื่นรวมทั้งสื่อมวลชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวด้วยว่า สำหรับการประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลการส่งเสริมการขายยาโดยตรง และยังขาดระบบธรรมาภิบาลในหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบยา กฎหมายที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอและไม่ทันสถานการณ์ ในขณะที่ระบบการกำกับดูแลกันเองหรือการควบคุมแบบสมัครใจ (self regulation) ของภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีประสิทธิผล พบรายงานปัญหาเพียง 1-2 กรณีต่อปี ไม่ครอบคลุมครบถ้วนสำหรับอุตสาหกรรมยาทั้งหมด ส่วนสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องแม้มีเกณฑ์จริยธรรม/จรรยาบรรณแต่ไม่ครอบคลุมเรื่องส่งเสริมการขายยา และในข้อเท็จจริงยัง มีปฎิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยา จนบางครั้งเกิดความ “เกรงใจ” ทำให้ไม่สามารถสะท้อนปัญหาที่แท้จริงและไม่ได้เป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งนี้คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยาและยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ได้พัฒนาร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าการส่งเสริมการขายยา เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กลางของประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นต่อร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาดังกล่าว โดยกำหนดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ เภสัชกร รวมทั้งประชาชนทั่วไปในวันที่ 26 ก.ค.2554 ณ โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น