ครม.แต่งตั้ง “ชวนนท์” เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เซ็นตั้ง “สามารถ โชคคณาพิทักษ์” นั่งที่ปรึกษา “เทือก” เห็นชอบต่อวาระการทำงาน “อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ” อีก 1 ปี ไฟเขียว “รมว.คลัง” นั่ง ปธ.คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ “ประชาวิวัฒน์” พร้อมอนุมัติ ปรับแผนการพัฒนา และส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่ม 5 มาตรการแก้ปัญหาปาล์มขาดตลาด ครม.เร่งแก้ปัญหาเกษตรกร อนุมัติจ่ายหนี้แทนกรณี ตาย-พิการ ก่อน ธ.ค.52 พร้อมให้ คลัง-ธ.ก.ส.รวบรวมข้อมูล 3.5 แสนราย ก่อนอนุมัติช่วยเหลือ
วันนี้ (8 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอการปรับองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทย โดยแต่งตั้ง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป
ด้าน นพ.มารุต มัสยวานิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบแต่งตั้งนายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ
เห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ ขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางสุวรรณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (นักบริหาร ระดับสูง) ซึ่งดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 และครบกำหนด 4 ปี ในวันที่ 11 ธันวาคม 2553 โดยมีมติต่อวาระการทำงานไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2553 ถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2554
ไฟเขียวแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการขับเคลื่อนโครงการประชาวิวัฒน์ โดยให้ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และมีคณะทำงานประกอบด้วย คณะทำงานเรื่อง
1.ค่าครองชีพ แหล่งเงินทุนและประกันสังคม ได้แก่ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ และผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 2.เรื่องอาหาร ได้แก่ นางสาววรรณวิมล ศิริวัฒน์เวชกุล และนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ 3.เรื่องพลังงาน ประกอบด้วย นายเอกราช อินทรสมบัติ และ นางสาวอรปรียา จึงพาณิชย์ 4.เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและประกันสังคม ได้แก่ นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ และผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นพ.มารุต กล่าวต่อว่า ในเรื่องที่ 5.คือ เรื่องเศรษฐกิจนอกระบบและความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน คณะทำงานประกอบด้วย ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ นายไชยณัฐ เจติยานุวัตร พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ นายอรัญ วงศ์อนันต์ นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ นายธนภณ คารมปราชญ์ นายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ผู้แทนสำนักงานกรุงเทพมหานคร และผู้แทนกรมตำรวจ
6.เรื่องการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ นายจิรายุ ตุลยานนท์ ผู้แทนกลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง 7.เรื่องข้อมูลด้านผลงาน ได้แก่ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ และฝ่ายเลขานุการ ได้แก่ นายวรจักร บัณฑุวงศ์ คณะทำงานและเลขานุการ และผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานดังกล่าวนั้น ประกอบด้วย 1.การพิจารณาติดตามประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรายงานความคืบหน้าต่อประธาน 2.การเชิญหน่วยงานจากส่วนราชการ และภาคเอกชนมาร่วมหารือให้ข้อมูลหรือร่วมปฏิบัติการตามความเหมาะสม และ 3.พิจารณาและปฏิบัติงานอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบการขออนุมัติปรับแผนการดำเนินงาน การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) พ.ศ. 2555-2559 โดยมีการส่งเสริมในด้านต่างๆ คือ 1.การปรับมูลค่าทุนการศึกษาในประเทศ ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและอนุมัติในหลักการให้ปรับมูลค่าทุนการศึกษา ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้โดยอัตโนมัติ กรณีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ปรับบัญชีโครงสร้างเงินเดือนใหม่ 2.การปรับค่าใช้จ่ายสนับสนุนการจัดการศึกษานักเรียนทุน พสวท.ในประเทศ 3.การปรับจำนวนทุนการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็น 180 ทุนต่อปี
นพ.มารุต กล่าวต่อว่า ในส่วนที่ 4.คือ การเพิ่มจำนวนศูนย์โรงเรียนและศูนย์มหาวิทยาลัย เป็น 20 ศูนย์ 5. การประมาณการค่าใช้จ่าย ตามนัยการปรับแผนการดำเนินงาน พสวท.โดยมีกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน พสวท.ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2555-2559 ในวงเงินประมาณ 4,242.960 ล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2554 ขอปรับมูลค่าทุนการศึกษา ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว โดยขอใช้งบกลางในวงเงิน จำนวน 37,813,800 บาท
ขณะที่ นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการมาตรการแก้ปัญหาขาดแคลนผลปาล์มและน้ำมันปาล์มดิบ 3 มาตรการ แล้วนั้น วันนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการอีก 5 มาตรการ คือ 1.ให้ดำเนินการเพื่อลดการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไบโอดีเซล เป็นการชั่วคราว โดยรัฐยังให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบกิจการน้ำมันดีเซล เหมือนเดิมในการผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซล 2.เพิ่มมาตรการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไข ให้มีจำนวนเพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ทั้งผู้บริโภครายย่อยและผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม และมีสต๊อกสำรองในระดับที่เหมาะสม เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่ามีปริมาณน้ำมันปาล์มอย่างเพียงพอและยกเลิกการกักตุนทั้งในระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรม
นายวัชระ กล่าวอีกว่า 3.กำหนดวัตถุประสงค์ในการนำเข้าให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของปริมาณการใช้ระหว่างใช้บริโภคในครัวเรือน และการใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม 4. ส่งเสริมระบบการตลาดค้าส่งและค้าปลีกให้มีความคล่องตัวเปิดโอกาสให้กลไกตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด 5.กระบวนการและขั้นตอนการนำเข้าให้มีการติดตาม กำกับดูแล และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสมดุลของปริมาณสินค้าและความต้องการใช้ภายในประเทศ ทั้งนี้ จนกว่าสถานการณ์จะคืนสู่ภาวะปกติ
นายวัชระ กล่าวอีกว่า กรณีการแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี เรื่องแนวทางการดำเนินการในการปรับโครงสร้างหนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีของ ธ.ก.ส.สาระสำคัญวันนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมติคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในการช่วยเหลือลดต้น ลดดอกของเกษตรกร ซึ่งช่วยเหลือในส่วนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟู ซึ่งเบื้องต้นมีตัวเลข 8 หมื่นราย ลดต้นครึ่งหนึ่ง ลดดอก จ่ายครึ่งเดียวภายในระยะเวลา 15 ปี โดยเกษตรกรได้มีการยื่นข้อเสนอและความจำเป็นเพิ่มเติม ซึ่งวันนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพิ่มเติมกรณีเกษตรกรที่เป็นลูกค้าธกส.เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ในระยะแรก คือ 8 หมื่นราย ถ้าเสียชีวิต หรือพิการภายในวันที่ 31 ธ.ค.52 ให้จำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชี แทงเป็นหนี้สูญทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยรัฐจะชดเชยหนี้เหล่านี้ให้กับธกส.ในรูปแบบที่เรียกว่า พีเอฟเอ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการยกเลิกมติดคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่จะมีการพิจารณาอนุมัติความช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งการประชุมที่ผ่านมามีการอนุมัติให้ ธ.ก.ส.ไปดำเนินการในเรื่องข้อเท็จจริงและดูข้อมูลก่อนให้การอนุมัติ ยกเลิกมติดังกล่าว หมายความว่าสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯทั้ง 8 หมื่นรายที่เป็นลูกหนี้ธกส.สามารถที่จะเข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือ
นายวัชระ กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่า มติดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากมติ ครม.7 เม.ย.53 ในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในส่วนที่เป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯ และยังขยายกรอบไม่เฉพาะแค่หนี้ของธกส.แต่หมายความถึงธนาคารอื่นๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีบัญชาชัดเจนให้ส่งสัญญาณว่าการช่วยเหลือครั้งนี้เป็นมติที่ต่อเนื่องจากมติใหญ่เมื่อ 7 เม.ย.53 โดยหลังจากนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูอีกประมาณ 350000 ราย ซึ่งกระทรวงการคลัง ธ.ก.ส.จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เห็นชอบช่วยเหลือต่อไป แต่ที่เริ่มจาก 8 หมื่นราย เพราะมีข้อมูลหลักฐานชัดเจนแล้ว