xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ชัด “เหล้า” ต้นเหตุคู่รักทะเลาะ ชวนงดเหล้าเข้าพรรษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผย “เหล้า” ตัวการก่อเหตุทะเลาะระหว่างคู่รัก สธ.เร่งรณรงค์ชวนประชาชนลด ละ เลิก ดื่มเหล้า เทศกาลเข้าพรรษาถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ด้าน “หมอสมาน” หวังชงรัฐบาลใหม่ผลักดันมาตรการคุมเข้มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล็งเสนอแนวทาง ห้ามดื่ม ห้ามขายเหล้าในที่ถนนสาธารณะ

วันนี้ (28 มิ.ย.) นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์ “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2554เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนลด ละ เลิก บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ก.ค.2554 ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประกาศห้ามร้านค้าทั่วไป ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ 4 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และ วันเข้าพรรษา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาที่มาจากการดื่มเหล้า ทั้งตัวผู้ดื่มโดยตรง ซึ่งก่อให้เกิดโรคกว่า 60 โรค เช่น โรคมะเร็ง ตับแข็ง โรคเบาหวาน สร้างความสูญเสียรายได้ปีละแสนล้านบาท และก่อให้เกิดปัญหาสังคม โดยพบว่าร้อยละ 45 ของผู้บาดเจ็บที่ถูกทำร้ายจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และร้อยละ 35 ของคดีอาญาทางเพศ เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“นอกจากนี้ ยังพบคดีอุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2538-2552 ร้อยละ 48 เกิดจากเมาแล้วขับ แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 13,000 คน บาดเจ็บมากกว่า 1 ล้านคน ส่วนผลกระทบด้านครอบครัว จากงานศึกษาของ รศ.นพ.รณชัย คงสกนร์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ครอบครัวที่มีการดื่มสุรา จะมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าครอบครัวที่ไม่ดื่มสุราถึง 4 เท่า ดังนั้น การใช้ศาสนาเข้ามามีส่วนในการจูงใจให้งดเหล้า จึงเป็นเรื่องที่น่าจะทำให้สำเร็จได้” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ได้เฝ้าระวัง ตรวจเตือนร้านค้าเหล้า จำนวน 1,941 ราย โดยอยู่ในเขต กทม.538 ราย และต่างจังหวัด 1,403 ราย ในจำนวนนี้กล่าวโทษดำเนินคดี 238 ราย ร้อยละ 93 อยู่ในต่างจังหวัด

ในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษานี้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและสถานบริการทุกแห่ง ให้หยุดบริการและห้ามจำหน่ายสุราในวันดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งที่ผ่านมา สถานบริการส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ก็ยังมีบางแห่งที่ไม่เข้าใจ และเปิดให้บริการ เช่น ร้านขายของชำ หรือ ร้านค้าในชุมชน หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิด สามารถโทร.แจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนสุรา กรมควบคุมโรค (คร.) หมายเลข 0-2590-3342 ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.สมาน กล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินการเกี่ยวกับการออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ในปลายปีนี้ตั้งใจไว้ว่าจะรอดูรัฐบาลใหม่ก่อน ว่า มีท่าทีอย่างไร แล้วจะหาวิธีการผลักดันแนวทางในการคุมเข้ม อาทิ มาตรการคุมเข้มสถานบริการไม่ให้เปิดใกล้กับสถานศึกษา ซึ่งขณะนี้ได้นำร่องในมหาวิทยาลัย 15 แห่ง มาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่า หากรัฐบาลใหม่เริ่มลงตัวเมื่อไหร่ทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะพยายามหามาตรการที่ใหม่ๆ เกี่ยวกับการคุมเข้มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่อยๆ ที่เด่นๆ ได้แก่ เรื่องของการเตรียมร่างมาตรการที่มีผลทางกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามจำหน่ายและห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนถนนสายสาธารณะ หรือ ถนนหลวง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการควบคุมสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสาเหตุหลักของการประสบอุบัติเหตุทางถนนจากรถยนต์

สำหรับสถานการณ์การดื่มสุราล่าสุดในปี 2550 สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานผลสำรวจในกลุ่มอายุ 15 ปี ขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 51.2 ล้านคน พบว่า เป็นผู้ดื่มเหล้า 14.9 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 29 ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง 6 เท่าตัว โดยแนวโน้มการดื่มลดลงจากจากปี 2544 ประมาณร้อยละ 4 กลุ่มที่ดื่มมากที่สุด คือ กลุ่มที่จบการศึกษาระดับ ปวส./ปวท./อนุปริญญา พบร้อยละ 36 ส่วนผู้ที่จบระดับปริญญาตรีดื่มน้อยที่สุดร้อยละ 24 เริ่มดื่มอายุเฉลี่ย 20.5 ปี โดยผู้ชายเริ่มดื่มเมื่ออายุ 19.5 ปี ส่วนผู้หญิงจะเริ่มดื่มเมื่ออายุ 25.9 ปี ค่าใช้จ่ายซื้อเหล้าเฉลี่ย 298 บาทต่อเดือน หากคำนวณแล้วผู้ที่ดื่มเหล้าจะต้องเสียเงินซื้อเหล้าตกปีละประมาณ 54,000 ล้านบาท โดยผู้ดื่มใน กทม.เสียเงินซื้อเหล้าดื่มสูงสุดเฉลี่ยเดือนละ 521 บาทต่อเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น