ทีมข่าวการศึกษา
ตามที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มีมติให้ “ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ” ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี (อธ.) มศว เป็นวาระที่ 3 ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคณาจารย์และบุคลากร มศว ซึ่งได้ร่วมลงชื่อ 300 รายชื่อคัดค้านก่อนหน้า ยิ่งตอกย้ำข่าวลือเรื่องความขัดแย้งภายใน มศว อย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายสนับสนุน ศ.ดร.วิรุณ และฝ่ายที่ไม่สนับสนุน และมติสภา มศว ครั้งนี้คงไม่ต่างกับการราดน้ำมันลงบนกองไฟที่คุกรุ่น
ข่าวลือเรื่องการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนภายใน มศว เริ่มแพร่สะพัดออกมาสู่สังคมภายนอก เมื่อครั้งมีการสรรหา อธ.มศว ดำรงตำแหน่งแทน ศ.ดร.วิรุณ ที่จะหมดวาระในวันที่ 27 มิ.ย.หลังจากครองเก้าอี้นี้ครบ 2 วาระ เป็นเวลา 8 ปี และน่าประหลาดใจว่า เรื่องการสรรหาไม่ค่อยได้รับการเปิดเผย มีเพียงบุคคลภายใน มศว ที่รู้ จนกระทั่งเกิดเสียงครหาในวงกว้าง ว่า มีการล็อกสเปกคณะกรรมการสรรหา อธ.เพื่อเปิดโอกาสคนสนิทอย่าง “ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ” รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของผู้รับการสรรหา และถูกจับตามองเป็นพิเศษในฐานะลูกน้องคนสนิท มือขวาของ ศ.ดร.วิรุณ ทำงานร่วมกันมายาวนานถึง 8 ปี จึงเชื่อว่า จะได้เป็น อธ.มศว คนใหม่ และก็เป็นดังคาด เพราะช่วงปลายดือน มี.ค.2554 ที่ประชุมสภา มศว มีมติแต่งตั้งให้ ผศ.นพ.เฉลิมชัย เป็น อธ.มศว คนใหม่ และได้เสนอชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ เพื่อเข้ารับตำแหน่งวันที่ 28 มิ.ย.2554
ระยะหลังการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้มีอยู่ภายใน มศว แต่เริ่มมีการส่งหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขอให้ตรวจสอบความผิดปกติการบริหารงาน เช่น โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถใต้ดิน ที่ ผศ.นพ.เฉลิมชัย รับผิดชอบ หรือกรณีที่ ศ.ดร.วิรุณ และ ผศ.นพ.เฉลิมชัย ร่วมกันแก้ไข หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเดือนให้ตนเอง และพวกพ้องโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบของ มศว เป็นต้น ทั้งนี้ ในเรื่องหลักเกณฑ์ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีคำสั่งให้ สภา มศว ดำเนินการตรวจสอบแต่ขณะนี้ก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ เช่นเดียวกับที่ สกอ.ไม่เคยชี้แจงเช่นกันจึงยังไม่มีความจริงปรากฏออกมา
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ปัญหาการร้องเรียนนั้น เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งทราบว่า มีปัญหาการร้องเรียนการสรรหา จึงส่งเรื่องการเสนอชื่อ ผศ.นพ.เฉลิมชัย มาให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปตรวจสอบให้เรียบร้อย ทำให้ สกอ.ต้องมีคำสั่งชะลอการเสนอชื่อ ผศ.นพ.เฉลิมชัย เพื่อโปรดเกล้าฯ
ล่าสุด เพื่อให้การทำงานของ มศว เดินหน้าต่อเนื่องการประชุมสภา มศว (วาระพิเศษ) เพื่อพิจารณาการตั้งรักษาการ อธ.มศว จึงถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยก่อนการประชุมตัวแทนกลุ่มคณาจารย์ฯ นำโดย นางมงคล ศริวัฒน์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ แต่งดำแสดงจุดยืนคัดค้านไม่ให้ ศ.ดร.วิรุณ เป็นรักษาการ อธ.พร้อมมอบดอกไม้และยื่นหนังสือต่อ ศ.นพ.เกษม สุวรรณกุล นายกสภา มศว และกรรมการสภา ขอให้พิจารณาเลือกคนกลาง หรือผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่แทน
การประชุมครั้งนั้นให้ถือว่าการลงคะแนนเป็นมติลับ ซึ่งมติเอกฉันท์ให้ ศ.ดร.วิรุณ ทำหน้าที่รักษาการ อธ.มศว ต่อไป ซึ่งหลังการประชุมยาวนานกว่า 3 ชั่วโมงเสร็จสิ้น ศ.เกษม ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวที่รอทำข่าวอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยอมตอบคำถามสั้นๆ ว่า “ให้ ศ.ดร.วิรุณ รักษาการ อธ.มศว เหตุผลเพราะเหมาะสม” ขณะที่ อดีตกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ก็สร้างความประหลาดใจด้วยการตัดสินใจยื่นจดหมายลาออกหลังจากเข้าร่วมประชุมเพียง 1 ชั่วโมง ด้วยเหตุผลไม่สบายใจจะทำงานร่วมกับสภา มศว ทั้งที่เพิ่งมาร่วมงานได้เพียง 3-4 เดือนก็ตาม โดยที่ “รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ยื่นใบลาออกตามติดๆ ซึ่ง รศ.ดร.วรากรณ์ ถือเป็น 1 ใน 2 กรรมการ ที่ไม่เห็นด้วยกับมติของที่ประชุม
มติสภา มศว สร้างความเสียใจอย่างมากต่อคณาจารย์ฯ ที่มารอฟังมติที่ประชุมถึงหน้าห้อง พร้อมพุ่งเป้าเดินหน้าฟ้องร้อง นายกสภา มศว ในข้อละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกัน ก็สมใจ ศ.ดร.วิรุณ ที่จะได้ยืดอายุการเป็น อธ.มศว อีกระยะ อาจเพื่อสะสางปัญหาค้างคา และเก็บกวาดอุปสรรคนานาประการให้เรียบร้อย ก่อนที่จะดัน “ผศ.นพ.เฉลิมชัย” ขึ้นแท่นเป็น อธ.มศว อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากนี้คงต้องจับตามองต่อไปว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้น ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้นจะสร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้นกับสังคมได้อย่างไร และรอยร้าวของชาว มศว จะสามารถประสานให้กลับมาแนบแน่นได้หรือไม่ ??