ผอ.ร.ร.โอดระดมทรัพยากรยาก ส่งผล ร.ร.ต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภค เลขาธิการ กพฐ.เผยเตรียมปัดฝุ่นประกาศเรียกเก็บเงินบำรุงฯ หาช่องจูงใจผู้ปกครองร่วมระดมทรัพยากรมากขึ้น แต่อาจแบ่งเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่พร้อมและไม่พร้อม ย้ำ ยึดหลักการไม่รับบริจาคตอนรับ นร.หรือบริจาคเพื่อแลกที่นั่งเด็ก ขณะที่หนังสือเรียนยังไม่ถึงมือเด็กอีก 82 โรง ส่วนใหญ่เป็น ร.ร.ขนาดเล็กเชื่อสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ได้ครบ
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ประกาศนโยบายห้ามสถานศึกษารับบริจาคหรือระดมทรัพยากรในช่วงการการดำเนินการรับนักเรียน รวมทั้งห้ามมิให้มีการรับบริจาคโดยมีเงื่อนไขแลกกับที่นั่งในชั้น ปรากฏว่า เมื่อมาดูยอดเงินบริจาคเข้าโรงเรียนมีจำนวนน้อยลงมาก โดยผู้บริหารสถานศึกษาหลายแห่ง บ่นว่า การระดมทรัพยากรทำได้ค่อนข้างลำบาก เงินที่ได้รับบริจาคมาไม่เพียงพอที่จะนำมาพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนให้ได้มาตรฐานตามที่พึงประสงค์ รวมทั้งไม่เพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากที่รัฐจัดสรรให้ในส่วนค่าใช้จ่ายพื้นฐานเท่านั้น โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภคที่โรงเรียนต้องรับผิดชอบเอง ซึ่งโรงเรียนขนาดใหญ่จะประสบปัญหาดังกล่าวนี้มากเป็นพิเศษ เพราะโรงเรียนมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากทำให้ภาระค่าใช้จ่ายสูงตามตัว
อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะหาวิธีการจูงใจให้ผู้ปกครองร่วมระดมทรัพยากรให้สถานศึกษามากขึ้น รวมทั้งจะปัดฝุ่นประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.เพื่อหาช่องทางให้โรงเรียนมีเม็ดเงินเพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อพัฒนาโรงเรียน วิธีหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้ คือ อาจจะแบ่งกลุ่มโรงเรียนที่ผู้ปกครองไม่มีความพร้อม จะให้เก็บค่าธรรมเนียมในราคาพื้นฐาน แต่โรงเรียนที่ผู้ปกครองมีความพร้อมสูง เช่น โรงเรียนขนาดใหญ่ จะเปิดช่องเก็บค่าธรรมเนียมสูงขึ้นเพื่อให้โรงเรียนเดินหน้าต่อไปได้
“ได้มอบให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สนผ.) ไปจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องเร็วๆ นี้ เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการระดมทรัพยากร รวมถึงการรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ที่จะให้นำคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาเป็นส่วนหนึ่งในการรับนักเรียนด้วย ซึ่งทั้ง2 เรื่องมีความสัมพันธ์กันจึงจำเป็นจะต้องหยิบมาพูดคุยในเวทีเดียวกัน แต่ยืนยันว่า สพฐ.จะคงหลักการเพื่อไม่ให้ระดมทรัพยากรในระหว่างดำเนินการรับนักเรียน และการระดมทรัพยากรต้องไม่เป็นเงื่อนไขในการรับนักเรียน” นายชินภัทร กล่าว
นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ส่วนหนังสือเรียนในโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีมีคุณภาพที่สถานศึกษายังได้รับไม่ครบนั้น ข้อมูล ณ วันที่ 15-19 มิ.ย.รายงานว่า เหลือโรงเรียนอีก 82 โรงจาก 300 โรง ที่ยังไม่ได้รับหนังสือเรียน ใน 13 เขตพื้นที่การศึกษา แบ่งเป็นโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 9 เขต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 4 เขต โดยโรงเรียนที่ไม่ได้รับส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก อยู่พื้นที่ห่างไกลติดขัดเรื่องผู้แทนจำหน่ายซึ่งได้ประสานองค์การค้า สำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการ และสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (อค.สกสค.) แล้วได้รับการยืนยันจะเร่งดำเนินการให้หนังสือถึงโรงเรียนดังกล่าวภายใน 30 มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม หนังสือส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้รับเป็นมากที่สุดหนังสือกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ตามลำดับ
อนึ่ง สำหรับรายการที่โรงเรียนไม่สามารถเรียกเก็บเงินสนับสนุนจากผู้ปกครองได้ เนื่องจากรัฐบาลได้จ่ายเงินงบประมาณเพื่ออุดหนุนให้แล้วจำนวน 22 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียนค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมวิชาการ ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมคุณธรรม/ชุมนุมลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด การไปทัศนศึกษา ค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตค่าวัสดุฝึกสอน/สอบ คู่มือนักเรียน บัตรประจำตัวนักเรียน ค่าปฐมนิเทศ ค่าสมุดรายงานประจำตัวนักเรียน ค่าบริการห้องสมุดค่าบริการห้องพยาบาล ค่าวัสดุสำนักงาน ค่าวัสดุเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ค่าวัสดุงานบ้านงานครัว ค่าอุปกรณ์กีฬา ค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์และอุปกรณ์การเรียนการสอน ค่าใช้จ่ายในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และค่าวารสารโรงเรียน
ส่วนสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนนอกเหนือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้นักเรียนเกินมาตรฐานที่รัฐจัดให้ สามารถขอรับการสนับ สนุนค่าใช้จ่ายได้ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและนักเรียน โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และประกาศให้ผู้ปกครองและนักเรียนทราบล่วงหน้าเพื่อสมัครใจเข้าเรียน เช่น เปิดห้องเรียนพิเศษ English Program (EP) ห้องเรียนพิเศษ Mini English Program (MEP) เป็นต้น