สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เชิญผู้บริหารการศึกษาระดับสูงจากประเทศไทย ศึกษาดูงานด้านการศึกษา ณ ประเทศอิสราเอล เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างประเทศ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของประเทศอิสราเอล มีผลคะแนนเฉลี่ยในหลายเวทีค่อนข้างสูง เนื่องจากเด็กได้รับการวางรากฐานที่ดีตั้งแต่วัยเยาว์ เด็กมีโอกาสได้รับการสนับสนุนให้เรียนรู้มิติทางวิทยาศาสตร์ในระดับอนุบาล และประถมศึกษา เช่น การวางแผนให้โรงเรียนอนุบาลในแต่ละท้องถิ่นประมาณ 25 โรง มีศูนย์วิทยาศาสตร์อยู่ตรงกลาง และให้เด็กจากโรงเรียนที่อยู่โดยรอบหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์จากศูนย์ ตลอดทั้งปี เฉลี่ยแล้วนักเรียนคนหนึ่งจะมาใช้ประโยชน์จากศูนย์วิทยาศาสตร์ปีละ 3 ครั้ง เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อธรรมชาติ ราคาถูก เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว โดยครูจะวางแผนร่วมกัน เช่น ปีนี้จะเน้นเรื่องมด เด็กจะได้เรียนรู้วงจรชีวิตของมดจากของจริง มีสื่อคอมพิวเตอร์ วิดีโอ ประกอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น หรือบริเวณรอบศูนย์จะมีบ่อน้ำ ต้นไม้ มีนกอยู่เป็นจำนวนมาก เด็กจะได้ส่องกล้องศึกษาวิถีชีวิตของนก เป็นต้น
“จุดเด่นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือพ่อแม่ หรือบุคคลที่มีจิตอาสาที่ทำงานอยู่ใกล้ๆ โรงเรียน จะเข้าไปช่วยสอนในเรื่องที่ตนเองมีความถนัด เช่น การเรียนรู้วงจรชีวิตของกบ มีกิ้งกือ ไส้เดือนเป็นห่วงโซ่อาหาร หรือมีการนำของเก่ามาดัดแปลงเป็นสื่อ ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานตื่นเต้นไปกับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากของจริง” เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวและว่า สำหรับในประเทศไทยนั้น เรามั่นใจว่า คนไทยฉลาดไม่ด้อยกว่าชาติอื่น หากได้รับการส่งเสริม หรือวางรากฐานที่ดีเพื่อให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากมาย การที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ หรือชุมชน จะร่วมมือ ช่วยคิด ช่วยทำ และนำมาขยายผล ก็จะเป็นการมีส่วนร่วมทางการศึกษาและเพื่อเพิ่มพูนคุณภาพการศึกษาให้แก่ลูกหลานของเรานั่นเอง