xs
xsm
sm
md
lg

เตือนอย่าตระหนก “ไข้ดำแดง” สธ.ชี้ไม่ใช่โรคร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลักษณะผื่นจากโรคดำแดง
สธ.ชี้ไข้ดำแดง ไม่ใช่โรคร้าย    วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะไทยมีอัตราป่วยน้อยลง  เตือนต้องระวังการสัมผัสกับผู้ป่วย โดยเฉพาะในสถานที่เสี่ยง เช่น “โรงเรียน”  หลังพบกลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กเล็ก 2-14 ปี

           จากกรณีมีรายงานข่าวการะบาดของโรคไข้ดำแดงระบาด  ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง  ตลอดปีนี้พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 400 ราย  เสียชีวิต 2 ราย  ส่วนใหญ่พบในเด็ก  โดยช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายน พบผู้ติดเชื้อกว่า 100 ราย  และฮ่องกงสั่งปิดโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ นั้น

                ล่าสุดวันนี้(23 มิ.ย. )  นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าว่า โรคไข้ดำแดง (Scarlet Fever)  เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ ( Streptococcus Group A) โรคนี้ไม่ใช่เป็นโรคใหม่ พบได้ทั่วไป  ในไทยพบโรคนี้มานานแล้ว  พบทุกกลุ่มอายุ แต่พบมากที่สุดในเด็กวัย 2-14 ปี คิดเป็นร้อยละ 60 ไม่เคยมีรายงานเสียชีวิตในไทย  ในปี 2554 ตั้งแต่เดือนมกราคม-ปัจจุบัน พบผู้ป่วยไข้ดำแดง 524 ราย ไม่มีเสียชีวิต

 

          “ในการป้องกันโรคนี้  ได้ สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เร่งเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อดูแลป้องกันการเกิดโรค  โดยจุดที่เน้นย้ำให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษได้แก่สถานเลี้ยงเด็กเล็ก หรือเนิร์สเซอรี่  โรงเรียนอนุบาลและระดับประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งมีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ขอให้ดูแลรักษาความสะอาดของใช้ เครื่องเล่นในโรงเรียน  โดยให้ล้าง  เช็ดทำความสะอาดทุกวัน  และให้สังเกตอาการผิดปกติของเด็ก  หากพบเด็กป่วย มีไข้สูง ขอให้แยกเด็กออกจากเด็กทั่วไปและไปพบแพทย์ เพราะโรคนี้ติดต่อได้จากการสัมผัส และการไอจาม    และให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ก็ได้” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

 
          นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า อาการโรคไข้ดำแดง จะเริ่มจากมีไข้ เจ็บคอ มีผื่นแดงขึ้นตามตัวและคอหลังมีไข้ 1-2 วัน จากนั้นผื่นจะกระจายไปยังแขนขา   รักแร้ ขาหนีบ ผื่นจะมีลักษณะคล้ายกระดาษทราย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค   โดยผื่นจะยุบหายเองประมาณ 1 สัปดาห์และผิวจะลอกออก  บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่นติดเชื้อที่หูชั้นกลาง และที่ไต  อาการจะปรากฏหลังติดเชื้อประมาณ 1-3 วัน โรคนี้ติดต่อกันได้ทางการไอจาม  เชื้อจะอยู่ในเสมหะ  น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย  เมื่อมีเด็กป่วยในบ้าน ให้แยกเด็กป่วยออก ไม่ให้คลุกคลีกับคนทั่วไป   ให้ผู้ป่วยล้างมือบ่อยๆ  ใช้ผ้าปิดปากจมูกขณะไอหรือจาม และดูแลความสะอาดของใช้เช่นแก้วน้ำ  ที่ผ่านมาผู้ป่วยที่พบในประเทศไทย อาการไม่รุนแรง  บางรายหายเองได้   โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่รายใดที่เป็นโรคแล้วจะมีภูมิต้านทาน โอกาสเป็นซ้ำน้อย

                นพ.รุ่งเรือง  กิจผาติ  โฆษก คร. กล่าวว่า  วิธีการรักษาของโรคนี้นั้น เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงและในปีนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา จึงไม่น่าห่วงมากนัก  สำหรับการให้การรักษานั้นแพทย์จะรักษาตามอาการ คือ หากมีไข้ก็กินยาลดไข้ และให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

                “ในส่วนของกรมควบคุมโรค อยากฝากประชาชนไว้ว่า สถานการณ์ของโรคนี้ไม่ได้รุนแรง  เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่อยู่ลำดับท้ายๆและมีอัตราการระบาดไม่มากเหมือนกับโรคหวัด   ดังนั้นตื่นตัวได้แต่อย่าตื่นตระหนกไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฮ่องกง  เพราะไทยมีการระบาดที่ลดลง  ขณะที่ฮ่องกงมีการระบาดเพิ่มจากปีก่อนๆ ถึง 4 เท่า  ซึ่งจากการที่มีผู้เสียชีวิตเป็นเพราะมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น เป็นไซนัสอักเสบด้วย มีอาการปวดข้อ  ทำให้ภูมิต้านทานที่ต่ำกว่าเดิม  ” นพ.รุ่งเรืองกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น