xs
xsm
sm
md
lg

สุ่มตรวจอาหารนำเข้าญี่ปุ่นยัง “ปกติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
                สถานการณ์อาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น ล่าสุด ตั้งแต่วันบังคับใช้ประกาศกระทรวง ผู้นำเข้าให้ความร่วมมือกับ อย.เป็นอย่างดี โดยแสดงหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (COO) และหลักฐานแสดงผลตรวจวิเคราะห์ (COA)  ณ ด่านอาหารและยา จำนวน 331 ราย ยอดรวมการนำเข้าอาหารทั้งหมด 1,771 รายการ พร้อมเผย ยอดสะสมอาหาร    ที่สุ่มตรวจหาสารกัมมันตรังสี ขณะนี้ อย.ได้ส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์หาสารกัมมันตรังสี 363 รายการ ได้รับผลแล้ว 357 รายการ ทุกรายการ อยู่ในระดับ “ปกติ”

                นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการเฝ้าระวังอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมา อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันบังคับใช้ประกาศกระทรวง      ผู้นำเข้าให้ความร่วมมือกับ อย.เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้ยอดรวมผู้นำเข้า ณ ด่านอาหารและยา ที่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้าที่มีการเพาะปลูก หรือเพาะเลี้ยง หรือผลิต ในเขตดังกล่าว (Certificate of Origin: COO) หลักฐานแสดงผลการตรวจวิเคราะห์ (Certificate of Analysis: COA) ระบุ ประเภทชนิดอาหารและปริมาณกัมมันตรังสี จำนวน 331 ราย โดยนำเข้าอาหารทะเล จำนวน 966 รายการ วัตถุแต่งกลิ่นรส จำนวน 217 รายการ วัตถุเจือปน จำนวน 92 รายการ แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง จำนวน 46 รายการ ผัก/ผลไม้ จำนวน 40 รายการ อาหารสำเร็จรูป จำนวน 30 รายการ และอาหารประเภทอื่นๆ จำนวน 380 รายการ รวมทั้งสิ้น 1,771 รายการ

                เลขาธิการ อย.กล่าวต่อไปว่า สำหรับประกาศฉบับใหม่ที่ได้กำหนดให้ผู้นำเข้าอาหารทุกประเภท ยกเว้นวัตถุเจือปนอาหาร วัตถุแต่งกลิ่นรส วัตถุที่ใช้รักษาคุณภาพอาหาร จากประเทศญี่ปุ่นที่ผลิตจากเขตพื้นที่อื่น นอกเหนือเขตพื้นที่ 8 จังหวัด ต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้าที่มีการเพาะปลูก หรือเพาะเลี้ยง หรือผลิตในเขตดังกล่าว (Certificate of Origin: COO) ซึ่งออกโดยหน่วยงานของรัฐของประเทศญี่ปุ่น หรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศญี่ปุ่น หรือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรม (Chamber of Commerce and Industry)  ของประเทศญี่ปุ่น แสดงที่ด่านนำเข้าทุกครั้งที่นำเข้า กรณีไม่มีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้า ผู้นำเข้าอาจใช้หลักฐานแสดงผลการตรวจวิเคราะห์ (Certificate of Analysis: COA) ระบุ ประเภท ชนิดอาหารและปริมาณกัมมันตรังสี จากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศญี่ปุ่น ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ  ตามมาตรฐานสากล แทนได้ สำหรับประกาศฉบับใหม่นี้อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไข ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

เลขาธิการ อย.กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ อย.ได้เก็บตัวอย่างสุ่มตรวจหาสารกัมมันตรังสี (ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2554) จำนวนทั้งสิ้น  363 ตัวอย่าง ได้รับผลตรวจแล้ว 357 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์  หาสารกัมมันตรังสี ทุกรายการอยู่ในระดับ “ปกติ” ขอผู้บริโภควางใจการดำเนินงานของ อย.ซึ่งที่ผ่านมา อย.  ได้ ติดตามสถานการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อย.ขอบคุณผู้นำเข้าที่ให้ความร่วมมือในการร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม อย.จะรายงานผลการตรวจวิเคราะห์  และสถานการณ์ความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบผ่านทุกสื่อรวมทั้ง เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th และ Social Media: Facebook: Fda Thai และ Twitter: FDAthai อย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น