“ไชยยศ” เผยอีก 4 สัปดาห์นัดประชุมตัดสินปัญหาซื้อขาย ป.บัณฑิต ม.อีสาน อีกครั้งหลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมเสนอการช่วยเหลือ นศ.ที่เรียนนอกที่ตั้ง ทั้งจัดนิติกรให้คำปรึกษา-หางบจ้างทนาย เหตุศูนย์นอกไม่ได้ถูกรับรอง ถือว่าตั้งผิด กม.ส่วน คกก.คุรุสภาที่มีเอี่ยว ได้ตั้งชุดตรวจสอบแล้ว
นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่ายภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้ากรณีปัญหาซื้อขายป.บัณฑิต มหาวิทยาลัยอีสาน ของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งจากคณะกรรมการควบคุม มอส. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการเยียวยานักศึกษา และเห็นชอบร่วมกันว่าให้มีการรวบรวมข้อมูลนักศึกษาโดยแบ่งออกเป็น กลุ่มที่เรียนใน มอส. และกลุ่มที่เรียนในศูนย์การเรียนรู้นอกที่ตั้ง 120 ศูนย์ เพื่อจะได้หาแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยา โดยให้ทุกคณะที่เปิดสอนใน มอส.รายงานข้อมูลภายใน 10 วัน หรือ 15 วัน ทั้งนี้กลุ่มที่เรียนศูนย์นอกที่ตั้งนั้นมีประมาณกว่า 1,300 คน และได้เข้ามารายงานตัวที่กับทาง มอส.แล้ว 1,208 คน ซึ่งตรงนี้อยากจะแนะนำให้นักศึกษาที่เดือดร้อนนั้นดำเนินการฟ้องร้อง เพราะศูนย์ที่เปิดนั้นไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากสภา มอส. เท่ากับว่าเป็นศูนย์ฯที่เปิดโดยผิดกฎหมาย
“เด็กเหล่านี้ได้รับความเสียหาย ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมได้หารือกันว่าจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่หากฟ้องร้องก็จะช่วยจัดนิติกรให้คำปรึกษาเรื่องทางกฎหมาย ขณะเดียวกัน ให้ทางมหาวิทยาลัยจัดหาเงินส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเป็นค่าจ้างทนาย เพราะถือว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนและแอบอ้างชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ไม่มีเด็กฟ้องร้อง เพราะส่วนใหญ่มีความหวังว่าจะได้รับการเยียวยา แต่เนื่องจากศูนย์ฯเปิดโดยผิดกฎหมายข้อมูลของนักศึกษาเหล่านี้จึงไม่มี ก็เลยไม่สามารถจะเยียวยาได้ ดังนั้น คนที่จะให้ข้อมูลได้ก็คือนักศึกษาที่เรียน เพราะเขาจะระบุได้ว่าเรียนกี่โมง เรียนกับอาจารย์คนไหน เพราะฉะนั้นถ้าเด็กเริ่มต้นด้วยการฟ้องร้องเราก็จะสามารถประสานขอข้อมูลเหล่านี้มาดำเนินการสืบสวนขยายผลต่อไปได้ อีกทั้งอำนาจของเราคือการเยียวยาเด็กที่เรามีฐานข้อมูลถูกต้องเท่านั้น ส่วนเด็กที่ไม่มีฐานข้อมูลหากไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีไว้กับตำรวจอำนาจของเราก็ไปไม่ถึง”นายไชยยศ กล่าวและว่า เมื่อได้ข้อมูลแล้วภายใน 4 สัปดาห์ก็จะทำการประมวลผลและนำเข้าหารือกันอีกครั้งในการประชุมตัดสินอีกครั้งในวันที่ 11 ก.ค.ที่ มข.ว่า จะดำเนินการทางกฎหมายกับ มอส.และดำเนินการเรื่องอื่น ๆ ต่อไปอย่างไร
นายไชยยศ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ได้มีกลุ่มนักศึกษามายื่นเอกสารซึ่งเป็นแถลงการที่เคยมีมาแล้ว พร้อมกับยื่นเอกสารขอให้ตรวจสอบกรณีคณะกรรมการคุรุสภาคนหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่า ศธ.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบเป็นการเฉพาะแล้ว แต่ตนก็รับเรื่องไว้และมอบให้ นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ กกอ.ไปตรวจสอบและประสานให้ทางคณะกรรมการควบคุมฯเตรียมเอกสารเพื่อรอมอบให้คณะทำงานหากมีการขอข้อมูลเข้ามาต่อไป
ด้าน นายนิยม ศรีวิเศษ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กมว.ว่า ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นที่ นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภาเสนอ ให้พิจารณากรณีมหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.) มีหนังสือแจ้งยกเลิกรายชื่อนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ซึ่งก่อนหน้านั้น นายอัษฎางค์ แสวงการ อธิการบดี มอส.ได้ลงนามรับรองผลการศึกษามายังคุรุสภาเพื่อมาใช้ในการขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาต และมีบางส่วนได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไปแล้ว แต่ต่อมา มอส.ได้มีหนังสือยกเลิกการรับรองผลการศึกษาของนักศึกษาดังกล่าว
“ตรงนี้มีประเด็นว่า เมื่อนายอัษฎางค์ ได้ลงนามรับรองการสำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู และใบแสดงผลการศึกษา (Transcript) ให้แก่นักศึกษาไปแล้ว ซึ่งในจำนวนนั้น มีนักศึกษาจำนวน 11 ราย ที่จ่ายเงินซื้อใบ ป.บัณฑิต โดยไม่มีการจัดการเรียนการสอนเลย เพราะฉะนั้น จะถือว่า นายอัษฏางค์และเจ้าหน้าที่ ๆ ร่วมลงนามในเอกสารดังกล่าว จะมีความผิดทางอาญาหรือไม่ รวมถึงประเด็นนักศึกษาทั้ง 11 ราย ที่นำเอกสารดังกล่าวมาใช้ในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไปแล้วด้วย ทั้งนี้ หน้าที่ของ กมว.มีหน้าที่แค่ออกและเพิกถอนใบอนุญาตฯ เท่านั้น ส่วนการวินิจฉัยในประเด็นที่เกี่ยวกับความผิดทางอาญา กมว.ขอให้เป็นหน้าที่ของบอร์ดคุรุสภา (บอร์ด คุรุสภา) เพราะผู้เสียหายคือคุรุสภา ไม่ใช่ กมว.ทราบว่าขณะนี้ทางคณะอนุกรรมการกฎหมายและระเบียบ ของคุรุสภากำลังเป็นผู้พิจารณาในประเด็นนี้อยู่ เพื่อจะเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด คุรุสภา ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้” ประธาน กมว.กล่าว