xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลตรวจกะหล่ำปลีปมจากเบลเยียมไม่พบเชื้ออี.โคไล พร้อมสั่งอายัดผักผลไม้ผิวบางแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กะหล่ำปลีปม
สธ.เผย กะหล่ำปลีปม จากเบลเยียมไม่พบเชื้ออี.โคไล  ชนิดรุนแรง ด้าน อย.ออกมาตรการเข้มมากขึ้น ชี้ ผักผลไม้ผิวบางอายัดก่อน ส่วนผลไม้ผิวแข็งให้ขายต่อได้ ขณะ คร.ย้ำชัดไทยไม่ต้องห่วงเรื่องถั่วงอกจะเป็นเหตุก่อเชื้ออีโคไล โอ 104  เพราะเยอรมนี ออกประกาศชัด  ห้ามขายนอกประเทศ
 

วันนี้ (13 มิ.ย.)    นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีการเฝ้าระวังเชื้ออีโคไล สายพันธุ์ โอ 104 ว่า ผลการตรวจกะหล่ำปลีปม นำเข้าจากยุโรป กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจวิเคราะห์และยืนยันผลเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ว่า เป็นเชื้ออี.โคไล สายพันธุ์ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมทั่วไป ไม่ใช่สายพันธุ์ที่กำลังระบาดในเยอรมนี  โดยในส่วนของ สธ.นั้น ขณะนี้เร่งผลิตเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเชื้ออี.โคไล เพิ่มอีก 50,000 ฉบับ เพื่อแจกให้ประชาชนที่เดินทางเข้าออกประเทศในทวีปยุโรป  จากเดิมที่แจกไปแล้ว 50,000 ฉบับ
               

ด้านนพ.พิพัฒน์   ยิ่งเสรี  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)   กล่าวว่า  กะหล่ำปลีปมที่นำเข้าจากเบลเยียมในส่วนของบริษัท สยามฟู้ด เซอร์วิส จำกัด มีจำนวน 12.96 ตัน ไม่พบการปนเปื้อนของเชื้ออี.โคไล โอ 104 เป็นเพียงอี.โคไล ปกติเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์รุนแรงที่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด  ส่วนกระหล่ำปลีปมของบริษัท เทสโก้ โลตัส ที่นำเข้าจากเบลเยียมนั้น  ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจยืนยันเชื้อ อีกทั้ง  ยังมีพริกหยวก จากอังกฤษ แครอท และผักผลไม้รวมจากยุโรป คาดว่า ผลการตรวจเชื้อจะได้อีกประมาณ 1 สัปดาห์
        

“อย่างไรก็ตาม  อย.ยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการเสริมล่าสุดจะมีการชักตัวอย่างผักผลไม้นำเข้าจากยุโรปทุกชนิด โดยเฉพาะผัก ผลไม้ประเภทผิวบาง อาทิ ราสเบอรี่ บลูเบอรี่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเยอรมนีจะขออายัดไว้ก่อน  ส่วนผลไม้ผิวแข็งที่ต้องปอกเปลือกเมื่อรับประทานจะไม่อายัด แต่จะสุ่มตรวจเหมือนปกติ  อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อกังวลว่าจะมีการปนเปื้อนในถั่วงอกด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงแล้วเรื่องนี้ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน เนื่องจากทางเยอรมันก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน” นพ.พิพัฒน์ กล่าว

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ขณะนี้ทางเยอรมันระบุเพียงว่าถั่วงอก เป็นแหล่งเกิดโรค แต่ไม่สรุป 100% เนื่องจากเยอรมนีระมัดระวังการเผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก  แต่ขณะนี้ทางเยอรมนีได้ออกมาตรการคุมเข้ม โดยใครหรือร้านค้าใดมีเมล็ดถั่วให้รีบทำลายทันที ขณะเดียวกัน ยังออกมาตรการห้ามจำหน่ายถั่วงอกออกนอกประเทศเด็ดขาด ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ต้องกังวล
 
กำลังโหลดความคิดเห็น