“จุรินทร์” เผย ผลการตรวจเชื้ออีโคไล ผลไม้นำเข้าจากยุโรปจะทราบผลพรุ่งนี้เช้า พร้อมตั้งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออีโคไล ให้คำปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาทั่วประเทศ
บ่ายวันนี้ (8 มิ.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้ากรณีมีข่าวการปนเปื้อนเชื้ออี.โคไลในนมว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนที่เป็นทางการ ซึ่งข้อเท็จจริงอาจจะเป็นได้ เพราะเชื้ออีโคไล จะอยู่ในระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์ เช่น วัว กระบือ จึงมีโอกาส มีความเป็นไปได้ที่อาจจะ ปนเปื้อนมากับนม โดยเฉพาะในนมพาสเจอร์ไรที่ใช้ความร้อนไม่ถึง 70 องศาเซลเซียส ทำให้เชื้อไม่ตาย แต่ทั้งหมดจะด่วนสรุปไม่ได้ ต้องรอผลการสอบสวนโรคที่เป็นทางการ และประเทศนั้นๆ เป็นผู้ประกาศออกมา ขณะนี้จึงเป็นเพียงการสันนิษฐาน เช่นเดิมสันนิษฐานว่าเชื้อมาจากถั่วงอก แตงกวา เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยได้มีมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้ 4 มาตรการที่ได้สั่งการและมีการดำเนินการแล้ว โดยวานนี้ (7 มิ.ย.) ได้มีการแจกเอกสารคำแนะนำเรื่องการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลชนิดรุนแรง โอ 104 (Enterohaemorrhagic E.coli O104) รวมทั้งคำแนะนำในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออีโคไล ซึ่งขณะนี้ได้จัดพิมพ์ทั้งหมดจำนวน 50,000 ฉบับ ได้แจกให้ 13 สายการบินที่เดินทางมาจาก 13 ประเทศในยุโรปเพื่อแจกให้ทั้งคนไทยและต่างชาติบนเครื่องแล้ว
ส่วนการเฝ้าระวังผัก ผลไม้นำเข้าจากประเทศในยุโรปนั้น ด่านอาหารและยา ประจำท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ได้เก็บตัวอย่างผัก ผลไม้นำเข้า 2 ชนิด ได้แก่ อโวคาโด และ กะหล่ำปลีปม ส่งตรวจวิเคราะห์เชื้ออีโคไลที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงเชื้อ 2 วัน จะทราบผลตรวจอโวคาโดเบื้องต้นในเช้าวันพรุ่งนี้ (9 มิ.ย.) ส่วนกะหล่ำปลีปมจะทราบผลในวันที่ 10 มิถุนายน 2554 โดยหากพบว่าเป็นเชื้ออีโคไล จะส่งตรวจเพื่อวิเคราะห์ว่าเป็นสายพันธุ์ใด จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ตั้งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษา โรคอุจจาระร่วง 1 ชุด ประมาณ 9 คน เพื่อเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่แพทย์ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่ว ประเทศที่ให้การรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออี.โคไล ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด รวมทั้งเสริมมาตรการด้านการป้องกันและควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ จากการประชุมประเมินสถานการณ์ของวอร์รูมกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราการติดเชื้อผู้ป่วยรายใหม่ชะลอตัวลง พบผู้ป่วยใน 13 ประเทศเช่นเดิม