xs
xsm
sm
md
lg

เผยเด็กไทยไม่เท่าทันสื่อถึงร้อยละ 50 แนะพ่อแม่ให้เวลาสร้างความเข้าใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
ปลัด วธ.จี้ ผู้สร้างสื่อคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม เร่งแก้ปัญหาคนไม่รู้จัก “สัญลักษณ์เรตติ้ง” ด้าน นักวิชาการ เผยผลวิจัยพบ “เด็กไทย” ไร้ภูมิคุ้มกันเท่าทันสื่อ แนะ ผู้ปกครอง-ครู อธิบายพฤติกรรมตัวละคร 
               
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาระบบจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ เวทีเสวนา เรตติ้ง สื่อ : เสรีภาพแห่งการสร้างสรรค์บนจรรยาบรรณและความรับผิดชอบ ว่า การผลิตสื่อต้องมองรอบด้านทั้งด้านการสร้างสรรค์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะบทภาพยนตร์มีเทคนิคการนำเสนอหลายแบบที่สามารถสื่อให้เห็นเรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรง โดยอาจไม่ต้องใช้วิธีกอดจูบ หรือตบตีเท่านั้น ซึ่งแนวทางของ วธ.จะเร่งแก้ปัญหากรณีที่ประชาชนรับรู้เพียงสัญลักษณ์เรตติ้ง แต่ไม่เข้าใจความหมาย รวมถึงการนำไปใช้ ดังนั้น การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนครั้งนี้ต้องการให้กลุ่มผู้สร้างสื่อ ผู้บริโภคสื่อ มาหาข้อสรุปการขับเคลื่อนเรตติ้งและเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนรับรู้ว่าสื่อมีความสำคัญ พร้อมสร้างความตระหนักเรื่องการจัดเรตติ้งสู่สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ โดยไม่เน้นมาตรการทางกฎหมาย แต่ให้ความสำคัญกับมาตรการทางสังคม ความรับผิดชอบร่วมกัน
                
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก ไม่เคยเรียนรู้กระบวนการสื่อสารกับลูก ทำให้เด็กเห็นว่าสื่อ กลายเป็นเพื่อนสนิท เห็นได้จากการเสพสื่อโทรทัศน์ ช่วงละครหลังข่าว ที่เด็กเล็กในวัยเรียนให้ความสนใจชมจำนวนมาก และเมื่อเกิดการนำเสนอฉากและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เด็กจะไม่สามารถแยกแยะโลกแห่งละคร ออกจากโลกแห่งความเป็นจริงได้ ตนจึงอยากเสนอแนวสร้างการเรียนรู้เท่าทันสื่อให้เด็กและเยาวชนคือ ต้องทำให้เด็กได้เรียนรู้พฤติกรรมตัวละคร โดยให้พ่อแม่ ผู้ปกครองหรือครู อธิบายให้คำแนะนำพฤติกรรมของตัวละครในแต่ละฉาก เพื่อให้เกิดความเข้าใจเหตุผลของการกระทำนั้นๆ นอกจากนี้ละครเนื้อหารุนแรงก็ควรอยู่ถูกที่ และถูกเวลา และควรจะต้องมีกลไกการบังคับใช้กฎหมายในการจัดเรตติ้งมาร่วมด้วย
               
นพ.สุริยเดวกล่าวอีกว่า จากการสำรวจเยาวชนทั่วประเทศเรื่องต้นทุนชีวิตของเด็กไทยในปี 2553 พบข้อมูลน่าตกใจ 4 เรื่องคือ น้ำใจของเด็กไทยลดลง ค่านิยมทำความดีก็ลดลง เหลือเพียงร้อยละ 34 ซึ่งในจำนวนนี้คิดว่า หากจะทำความดีต้องหลบๆซ่อนๆ และยังพบว่า เด็กไทยมีความรู้เท่าทันสื่อไม่ถึงร้อยละ 50 ขาดภูมิคุ้มกันในการเสพสื่อดีและสุดท้ายคือขาดการใส่ใจภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น
               
นางจำนรรค์ สิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า ยอมรับว่า สื่อมีอิทธิพลสามารถกำหนดทิศทางของสังคมได้ แต่สิ่งที่ประหลาดใจคือปัจจุบันสื่อดีน้อยลงมาก แต่สื่อที่เป็นอันตรายกลับเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมีจิตสำนึก และอุดมการณ์ทางวิชาชีพในการร่วมมือกันผลิตสื่อที่ไม่เป็นยาพิษ ไม่ทำร้ายสังคมและต้องต่อสู้กับธุรกิจโดยยึดความรับผิดชอบต่อสังคมให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น