“กรมอนามัย” ระบุ กรณีปลาตายจากเรือน้ำตาลล่ม เหตุเพราะขาดออกซิเจน ระบุตามหลักการไม่ส่งผลต่อสุขภาพคน เหตุไม่ได้ปนเปื้อนสารเคมี แต่ต้องรอตรวจสอบอีกครั้ง ส่วนน้ำถือว่าเสีย ห้ามกิน-ใช้
จากกรณีที่เรือบรรทุกน้ำตาลจมในแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่ง ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยาจ.พระนครศรีอยุธยา จนส่งผลให้ปลาตายจำนวนมากนั้น ล่าสุด วันนี้ (3 มิ.ย.) นายพิษณุ แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผลกระทบหลักจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนประเด็นผลกระทบทางด้านสุขภาพนั้น หากพิจารณาข้อมูลตามข่าวที่ผ่านมาจะพบว่าปลาตายเพราะขาดออกซิเจน เนื่องจากน้ำตาลไปเกาะกลุ่มกันจนทำให้มวลออกซิเจนในน้ำน้อยลง ซึ่งหากมาจากสาเหตุนี้ปลาที่ตายทั้งหมดก็ถือว่าขาดออกซิเจนอย่างเดียว ดังนั้น โดยหลักการหากนำปลามาทำให้สุกก็สามารถบริโภคได้ แต่ในกรณีนี้ตนไม่แน่ใจว่า สาเหตุที่ปลาตายเพราะขาดออกซิเจนอย่างเดียวหรือไม่
“อย่างไรก็ตาม สำหรับน้ำที่ขาดออกซิเจนนั้น จะถือว่าเป็นน้ำเสีย ยิ่งหากบริเวณนั้นสภาพน้ำไม่สะอาดเพียงพอก็จะถือว่าเป็นน้ำที่ไม่สมบูรณ์ มีความสกปรก จึงไม่ควรบริโภค แม้แต่อาบก็อาจส่งผลให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังได้เช่นกัน ทางที่ดีต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเติมออกซิเจนให้น้ำบริเวณดังกล่าวกลับคืน” นายพิษณุกล่าว