xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอแนะทุกพรรคชูนโยบายเด็ก-สตรี-ค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
ในวงเสวนาสถานการณ์ค้ามนุษย์  เสนอทุกพรรคมีนโยบายชัดเจนด้านเด็ก สตรี และค้ามนุษย์  รวมถึงเสนอให้ดีเอสไอ ตั้งสำนักปราบปรามค้ามนุษย์โดยตรงและเป็นคดีพิเศษอัตโนมัติ

น.ส.ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการ สถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศไทย 2554 ว่า ขณะที่ ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 แต่ยังพบปัญหาการค้ามนุษย์ที่เป็นเครือข่ายใยแมงมุมในทุกพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบเหยื่อที่มีอายุน้อยที่สุด 12 ปี ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมายาวนานในประเทศไทย จึงเสนอให้มีกลไกพิเศษเข้ามาดูแลปัญหา ทั้งกลไกของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และมีกองกำลังพิเศษในการดูแลเรื่องนี้โดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมาพบเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหา กว่าจะเข้าไปถึงผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกลับมีข่าวรั่ว ทำให้การทำงานไม่เกิดผลอย่างจริงจัง ไม่สามารถเข้าไปจัดการกับปัญหาได้ ทั้งนี้องค์กรผู้หญิงทุกเครือข่ายจะเสนอให้ทุกพรรคการเมือง ต้องมีนโยบายชัดเจนด้านเด็ก สตรี รวมถึงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์

ด้าน นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า เหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่เป็นคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ อีกทั้งยังมีนักเรียนมัธยมที่เข้ามาทำงานช่วงปิดเทอมในกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยแหล่งล่อลวงยังเป็นจุดเดิมคือ สนามหลวง หัวลำโพง หมอชิต อีกทั้งยังพบอุปสรรคในการทำงานเนื่องจากเจ้าหน้าที่บางส่วนยังไม่อำนวยความสะดวก เช่น การติดต่อเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่เกิดการล่อลวงเพื่อรณรงค์ให้ความรู้ แต่กลับได้รับคำตอบว่าเกรงจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี

ด้าน นางชลีรัตน์ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์สตรี กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ชายแดน พบว่า ยังมีการปล่อยให้มีการเปิดร้านคาราโอเกะตามชายแดนโดยไม่มีการควบคุม จากการลงพื้นที่พบมี ร้านคาราโอเกะที่ชายแดน 96 ร้าน เพิ่มเป็น 200 ร้าน ในจุดเดียวกัน  และยังพบมีหญิงขายบริการจาก จีน พม่า และ เวียดนาม โดยเจ้าของธุรกิจเป็นชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่ง นายเอกลักษณ์ เสนอให้มีการตั้งสำนักที่ทำงานด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์โดยตรงในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้คดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เป็นคดีพิเศษโดยอัตโนมัติ เพราะจากการลงพื้นที่กับดีเอสไอ พบว่า เมื่อเข้าไปถึงพื้นที่แล้ว ดีเอสไอกลับไม่มีอำนาจในการทำงาน

หลังจากเสวนาวิชาการ สถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศไทย 2554 เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ ประกอบด้วย มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิพิทักษ์สตรี ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสิทธิผู้หญิง (WORD) มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) มีข้อเสนอ 6 ประการ ต่อหน่วยงานภาครัฐ รัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมถึงรัฐบาลชุดใหม่ เนื่องในวันต่อต้านการค้ามนุษย์ และ ครบรอบ 3 ปี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้แก่ 1.ขอให้พิจารณายกระดับคดีการค้ามนุษย์เป็นคดีพิเศษ และเพิ่มมาตรการให้สภาทนายความ หรือนักกฎหมายด้านการค้ามนุษย์เข้ามาร่วมตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส

2.รัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นจิตสำนึก ศีลธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2551 เพราะหลายพื้นที่พบว่า นอกจากการแสวงหาประโยชน์แล้ว ข้าราชการบางคนยังขาดจิตสำนึกและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด  3.ขอให้ว่าที่นายกรัฐมนตรีมีกลไกติดตามและรายงานความก้าวหน้าคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง  4.รัฐควรจัดให้มีการดูแลผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ที่เหมาะสมและสอดคล้องความต้องการของผู้เสียหาย  5.รัฐควรดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายให้อยู่ในกรอบระยะเวลาที่แน่นอน  ทั้งด้านการดำเนินคดี การติดตามคดี และสนับสนุนให้มีหน่วยงานชุดพิเศษที่ทำเรื่องคดีการค้ามนุษย์โดยตรง  และ 6.เสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ภาคประชาชน เพราะกองทุนที่รัฐตั้งขึ้นตามกฎหมายไม่สอดคล้องกับการทำงานจริงจังของผู้ปฏิบัติงานภาคเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น