อนุกรรมการกฎหมาย ระบุข้อมูล ป.บัณฑิตไม่ชัดเจน ขอข้อมูลเพิ่ม พร้อมตั้งคณะทำงานเพิ่ม 1 ชุด ตรวจสอบสำนวนให้เสร็จภายใน 15 วัน แย้มอาจไม่ทันประชุมบอร์ดคุรุสภา 16 มิ.ย.
วันนี้ (1 มิ.ย.) นายยืนยง จิรัฏฐิติกาล ประธานคณะอนุกรรมการกฎหมาย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯครั้งแรก กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้คณะอนุกรรมการฯ มาจำนวน 13 จาก 24 คน และนายเพิ่ม หลวงแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการกฎหมาย ติดภารกิจประชุม กกต.ที่ต่างจังหวัด ตนจึงทำหน้าที่ประธานแทน และจากการตรวจสอบเอกสารที่คุรุสภาส่งมาให้นั้น พบว่าเป็นเอกสารการสรุปผลของการได้มา ป.บัณฑิต ปลอม หรือไม่ปลอม ซึ่งในทางกฎหมายไม่สามารถนำมาสรุปหรือบอกอะไรได้ เนื่องจากคุรุสภาไม่มีสำนวนการสอบ ไม่มีรายชื่อของเด็กที่ไปขอ ป.บัณฑิตโดยไม่ได้เรียน เราไม่รู้ว่าชื่ออะไรบ้าง แล้วเด็ก 11 รายที่มาสารภาพ ได้มาโดยไม่ได้เรียน และเป็นจริงตามที่สำนักงานคุรุสภา เสนอตามที่สรุปมาให้หรือไม่ ดังนั้น ขอให้คุรุสภาส่งข้อมูลรายละเอียดมาให้พิจารณาเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯได้พิจารณากันอย่างรอบคอบแล้ว จึงมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย นายสงขลา วิชัยขัทคะ เป็นประธาน กรรมการ 8 คน ได้แก่ นาย ธีรพัฒน์ คำคูบอน นายยืนยง จิรัฏฐิติกาล นายปรีดา บุญเพลิง นายสุวิรัติ มังคุด นายจักรพรรดิ วะทา นายชวน คงเพชร นายรณชิต บุตรภักดีธรรม นายขจร จิตสุขุมมงคล โดยคณะทำงานชุดนี้จะดำเนินการตรวจสอบสำนวนให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่มีคำสั่งแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า บอร์ดคุรุสภาเคยมีมติให้อนุกรรมการกฎหมายพิจารณาให้แล้วเสร็จทันเข้าบอร์ดวันที่ 3 มิ.ย. นายยืนยงกล่าวว่า ไม่มีการประชุมในวันดังกล่าว แต่จะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ อย่าไรก็ตาม ยังไม่มั่นใจว่าคณะทำงานชุดนี้จะดูสำรวจทันหรือไม่ พร้อมกันนี้เราต้องให้ความเป็นธรรมทั้งหมดทุกคน ไม่ว่ามหาวิทยาลัย เด็ก และคุรุสภา ถ้าเรามีมติวันนี้โดยไม่เห็นสำรวจการสอบสวนหรือการให้ปากคำต่างๆ เราจะไปแจ้งความดำเนินคดีอาจไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้นเราจึงถือว่าเขายังไม่มีความผิด
“ถ้าเราตัดสินใจโดยไม่เห็นสำนวนที่ถูกต้อง อาจมีผลกระทบต่อคุรุสภาโดยตรง ตลอดจนนักศึกษาที่เรียนจริงก็จะได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้น เราจึงขอดูสำนวนทั้งหมดอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพราะเรื่องนี้เป็นคดีอาญา เราจะดำเนินการอะไรลงไปโดยไม่เห็นสำนวนเราคงทำไม่ได้ ดังนั้น อนุกรรมการฯซึ่งเป็นนักกฎหมาย มีมติว่าต้องดูสำนวนตัวจริงและดูอย่างละเอียด ว่าใครบ้างที่ทำให้คุรุสภาเสียหาย เสียหายเรื่องใดบ้าง” นายยืนยงกล่าว และว่า การที่มหาวิทยาลัยแจ้งรายชื่อบัณฑิตแล้วมายกเลิก เราก็ต้องดูเอกสารทั้งหมดด้วย
ถามว่าคุรุสภามีสิทธิฟ้องหรือไม่ นายยืนยงกล่าวว่า ดูจาก พ.ร.บ.สภาครู เป็นตัวตั้งว่าอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และการที่นักศึกษานำหลักฐานอันเป็นเท็จมาแจ้งเพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เราก็จะต้องดูต่อไปด้วยว่า เขารู้หรือไม่ว่าเขาได้มาโดยไม่ถูกต้อง
สำหรับประเด็นที่สำนักงานคุรุสภาเสนอ 1.แจ้งความต่อผู้กระทำผิดทางอาญาหรือไม่ 2.หากสมควรดำเนินการ ควรดำเนินการแจ้งความผู้ใดบ้าง 3. หากข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่ามีใครกระทำผิดทางอาญาเช่นเดียวกันควรมอบสำนักงานคุรุสภาแจ้งความดำเนินการต่อไปหรือไม่ และ 4.อำนาจของ รมว.ศธ ในการให้ความเห็นชอบให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดำเนินการแจ้งความในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นใน 4 ประเด็นเราไม่สามารถพิจารณาได้ เนื่องจากขาดสำนวนที่เป็นรายละเอียด เราจึงตั้งคณะทำงานไปดูสำนวนทั้งหมด ว่าเด็กให้ปากคำอย่างไรบ้าง ใบประกาศของจริงของปลอม และซื้อขายหรือไม่ เราจะให้คณะทำงานตรวจสอบสำนวนทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน เสร็จแล้วให้นำเสนออนุกฎหมายชุดใหญ่ แล้วนำเรื่องเข้าคณะกรรมการคุรุสภา ถ้าดำเนินการเร็วจะมีการประชุมอนุกฎหมายอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ทันวันที่ 16 มิ.ย.เพื่อให้ทันประชุมบอร์ดคุรุสภา หากไม่ทันก็ต้องเลื่อนออกไปเดือนกรกฏาคม
“อนุกรรมการกฎหมายมีความเห็นอย่างไรก็เสนอคณะกรรมการคุรุสภา ซึ่งคณะกรรมการคุรุสภามีอำนาจสูงสุดจะเห็นด้วยกับที่อนุกรรมการกฎหมายหรือ ไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราจะไปชี้ว่าใครผิดใครถูกไม่ได้ แต่อนุกรรมการจะเร่งให้เร็วที่สุด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมติดตามอยู่ เราจะทำให้ดีที่สุด จะไม่ให้เกิดความเสียหายกับใครทั้งสิ้น เหมือนเราจะคนเข้าคุกสักคนดูแค่สำนวนเอกสารสรุปเขาคงไม่ทำกัน เราจะต้องตรวจสำนวนทั้งหมดและสำนวนนั้นน่าเชื่อถือขนาดไหน เราต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แจ้งความฉ้อโกงประชาชนก็เป็นเรื่องของ สกอ.เพราะมีอำนาจแตกต่างกัน ส่วนคุรุสภามีอำนาจแค่ออกใบอนุญาตกับเพิกถอนเท่านั้น” นายยืนยง กล่าว