xs
xsm
sm
md
lg

เผยเด็กไทยขาดทักษะการใช้ชีวิต แถมคิดเองไม่เป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดโจทย์ใหญ่วัยมัธยม “คิดไม่เป็น-ขาดทักษะชีวิต ฉายแววเด่นไม่ถูกยอมรับ” สสค.จับมือ สพฐ.จุดกระแสการเรียนรู้ ชวนโรงเรียนมัธยมร่วมพัฒนาทักษะการคิด ทักษะการชีวิต และบริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แถลงข่าวเปิดตัวโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับมัธยมศึกษา ครั้งที่ 1/2554 นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค.กล่าวว่า ในการพัฒนาทักษะการคิด ทักษะชีวิต เพื่อสร้างศักยภาพของเด็กวัยมัธยมศึกษา ถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการพัฒนาบุคคลากรที่มีศักยภาพ จึงเป็นที่มาของโครงการสนับสนุนโรงเรียนมัธยม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 เรื่อง คือ การพัฒนาทักษะการคิด ทักษะชีวิต และการบริหารจัดการที่ดีในโรงเรียน เพราะการสอนที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะการคิด จะสามารถทำได้ด้วยการบริหารจัดการในโรงเรียนที่ดี ทั้งนี้ สสค.จะสนับสนุนใน 2 ลักษณะ คือ ประเภทโครงการเดี่ยว ซึ่งเป็นการดำเนินงานของสถานศึกษา 1 แห่ง จะสนับสนุนไม่เกินโครงการละ 200,000 บาท และโครงการกลุ่ม ซึ่งเป็นการดำเนินงานเป็นกลุ่มหรือเครือข่ายสถานศึกษา จะสนับสนุนโครงการละ 200,000-700,000 บาท โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.qlf.or.th
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
รศ.ดร.จิราภรณ์ ศิริทวี ที่ปรึกษาโครงการและอดีตอาจารย์โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าปรากฎการณ์ที่สำคัญด้านการศึกษาของเด็กระดับมัธยมศึกษา คือ กรณีผลการประเมินของโครงการ PISA ในปี 2552 ซึ่งพบว่าเด็กไทยกลุ่มอายุ 15 ปี มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติทุกวิชา และปรากฎ การณ์เด็กไทยสอบตกยกประเทศ จากผลสอบโอเน็ต โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์-อังกฤษ ทำได้ไม่ถึง 20% สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเรียนรู้ของเด็กในปัจจุบันที่ยังขาดทักษะด้านการคิดวิเคราะห์

โจทย์ที่สำคัญ คือ เด็กไทยส่วนใหญ่เรียนแบบท่องจำ ทำให้เด็กไทยขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เมื่อประกอบกับเด็กไทยยังขาดทักษะชีวิต เห็นได้จากกรณีท้องก่อนวัยอันควร ปัญหายาเสพติด ซึ่งประเด็นสำคัญ คือ เราจะทำให้เด็กเกิดความมั่นคงด้านจิตใจ และเห็นคุณค่าในตัวเองได้อย่างไร โดยเฉพาะวัยมัธยมต้นซึ่งเป็นวัยที่จะค้นพบความถนัดของตัวเอง หรือ “แวว” ได้เด่นที่ชัดเจนที่สุด โดยเด็กแต่ละคนจะมีแววที่โดดเด่น 1 ด้าน ใน 10 แวว ซึ่งประกอบด้วย แววผู้นำ แววนักคิด แววนักสร้างสรรค์ แววนักวิชาการ แววนักคณิตศาสตร์ แววนักวิทยาศาสตร์ แววนักภาษา แววนักกีฬา แววนักดนตรี และแววศิลปิน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่อุปสรรคในการพัฒนาตามความถนัดหรือการฉายแววของเด็กคือ ผู้ปกครองไม่ยอมรับในศักยภาพนั้น เพราะคาดหวังแววที่เป็นไปตามกระแสความนิยมของสังคม และบทบาทของครูหากไม่เข้ามาส่งเสริม แววนั้นก็จะหมดไป” รศ.ดร.จิราภรณ์ กล่าว

นางอ่องจิต เมธยะประภาส ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า นโยบายของ สพฐ.เน้นให้เด็กเยาวชนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ ด้วยการพัฒนาทักษะชีวิต และทักษะการคิดให้อยู่ในการเรียนการสอน โครงการของสสค. ที่เปิดสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะการคิด ทักษะชีวิต และการบริหารจัดการของสถานศึกษา จึงสอดคล้องกับการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือเสริมที่สำคัญให้โรงเรียนได้ลงสู่ภาคปฏิบัติจริงในแต่ละพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น