xs
xsm
sm
md
lg

วธ.เข้มร้านสัก ห้ามสักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “พระพุทธรูป-พระพิฆเนศ” ชี้ไม่เหมาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงวัฒนธรรมขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เรียกผู้ประกอบการมาขอความร่วมมือให้งดสักรูปพระพุทธรูปตามร่างกายนักท่องเที่ยว และเตรียมจะออกกฎหมายเอาผิดทั้งผู้ให้บริการและลูกค้า
วธ.เข้มห้ามร้านสัก นำภาพพระพุทธรูปและพระพิฆเนศ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สักตามอวัยวะต่างๆ ป้องกันการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาในทางที่ไม่เหมาะสม  เผยราคาค่าบริการสักแต่ละครั้งสูงถึง 20,000 บาท ชี้ต่างชาติสักเป็นแฟชั่น แต่ส่งผลต่อความศรัทธาของชาวพุทธ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2554 ณ ห้องประชุม กระทรวงวัฒนธรรมว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้รับเรื่องร้องเรียนในประเด็นเกี่ยวกับการสักภาพพระพุทธรูปและพระพิฆเนศ ตามอวัยวะต่างๆ บนร่างกาย อาทิ บริเวณหน้าอก หน้าท้อง เท้า แขน ขา และหลัง ซึ่งไม่เหมาะสมสอดคล้องกับวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีการให้บริการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้มอบหมายให้วัฒนธรรมภูเก็ตตรวจสอบข้อมูลจากผู้ประกอบการในเบื้องต้นแล้ว รวมทั้งขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศช่วยตรวจสอบดูแลผู้ประกอบการดังกล่าวด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้น

พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ให้บริการชาวต่างประเทศ และมีการรวมกลุ่มกันเป็นชมรมผู้ประกอบการ ซึ่งมีราคาค่าบริการสักแต่ละครั้งสูงถึง 20,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากหันประกอบกิจการสักกันมากขึ้น

นายนิพิฏฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะเดียวกันชาวต่างชาติเห็นว่า การสักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเพียงแฟชั่น ไม่ได้มองถึงความเคารพและอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว โดยให้มีการตรวจสอบสถานประกอบการสัก และห้ามมิให้มีการบริการสักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของทุกศาสนาบนร่างกาย ดังนั้น จึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด จัดประชุมชมรมผู้ประกอบการ เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้นำภาพทางศาสนามาให้บริการสักแก่ชาวต่างชาติ อีกทั้ง วธ.จะจัดทำข้อควรระวังในการใช้สัญลักษณ์ทางศาสนา ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษเพื่อป้องกันปัญหาการใช้สัญลักษณ์ทางศาสนาในทางที่ไม่เหมาะสมเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ใช้บริการก็ขอให้ใช้ภาพอื่นๆ สักแทน รวมทั้งยังได้ได้จัดทำข้อควรระวังในการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อป้องกันการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาในทางที่ไม่เหมาะสมเชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย

ด้าน น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวว่า ตนได้รับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ระบุว่ารูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถือเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของบุคคล เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากมีการนำไปสักบนเรือนร่างจะถือว่ามีความไม่เหมาะสม เพราะเรือนร่างของคนจะต้องนำไปใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ หากยิ่งพบเห็นการสักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกลุ่มบุคคลที่ใช้เรือนร่างโชว์เป็นอาชีพ เช่น อาชีพขายบริการ นักเต้นอะโกโก้ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกต่อผู้ศรัทธาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น