สปส.แฉสถานประกอบการ 3.2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ค้างจ่ายสมทบรวมกว่า 2 พันล้าน
นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดให้นายจ้างร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ร้อยละ 5 ของอัตราค่าจ้างในแต่ละเดือน จนถึงปัจจุบันมีนายจ้างที่ค้างจ่ายเงินสมทบคิดเป็นร้อยละ 0.58 ของจำนวนที่ต้องจ่ายเงินสมทบทั้งหมด ซึ่งเป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท โดยมียอดค้างชำระวงเงินตั้งแต่กว่า 100 บาท ไปจนถึงไม่เกิน 10 ล้านบาท มีสถานประกอบการที่ค้างชำระเงินสมทบจำนวน 32,600 แห่ง จากทั้งหมด 47,123 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 10 คน มีจำนวนถึง 29,467 แห่ง รองลงมาคือ สถานประกอบที่มีลูกจ้าง 10-19 คน จำนวน 1,107 แห่ง และสถานประกอบที่มีลูกจ้าง 20-49 คน จำนวน 959 แห่ง ขณะที่สถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้าง 1,000 คนขึ้นไป มี 4 แห่ง
นายพีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า กรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สปส.จะออกหนังสือเตือนให้จ่ายเงินสมทบที่ค้างอยู่ภายใน 30 วัน แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็จะออกหนังสือเชิญให้มาพบ แต่หากไม่ยอมจ่ายเงินสมทบอีก จะแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และดำเนินคดีอาญา รวมทั้งจะไปตรวจสอบที่สถานประกอบการ ทั้งในเรื่องของบัญชีเงินฝาก และทรัพย์สินต่างๆ เช่น ที่ดิน อาคารสถานที่ เครื่องจักร โดยภายใน 90 วัน หากไม่จ่ายเงินสมทบ จะยึดทรัพย์ไว้แล้วขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นเงินสมทบที่ค้างอยู่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีสถานประกอบการถูกยึดทรัพย์จำนวน 1,805 แห่ง ส่วนมากเป็นสถานประกอบการที่เลิกกิจการและล้มละลาย อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีปัญหาด้านการเงิน ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบที่ค้างอยู่ได้ทันที สามารถผ่อนจ่ายเงินสมทบเป็นงวดๆ ได้
“เงินที่ค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของสถานประกอบการ ถือว่าไม่มาก เพราะเป็นยอดที่ค้างจ่ายสะสมมานานหลายปี และเป็นยอดเงินที่มาจากการคิดค่าปรับ ซึ่งในเดือนแรกจะอยู่ที่ร้อยละ 2 จากยอดที่ค้างจ่าย เดือนที่ 2 ร้อยละ 4 และเดือนที่ 3 ร้อยละ 6 โดยบวกเพิ่มในอัตราร้อยละ 2” นายพีรพัฒน์ กล่าว