xs
xsm
sm
md
lg

คปส.แนะทางออกเรตติ้ง สร้างความเข้าใจสื่อ-ผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
“สุภิญญา” เสนอทางออกการจัดเรตติ้ง ควรมีการสร้างกลไกเชื่อมความเข้าใจระหว่างผู้ผลิตสื่อ ผู้บริโภค และสร้างกระบวนการเรตติ้งที่มีเอกภาพ แนะ กสทช.มีบทบาทกำกับดูแลให้สื่อมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าไปควบคุมหรือแทรกแซง และไม่รุกราน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อ

วานนี้ (11 พ.ค.)  น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช.  กล่าวว่า ตนคิดว่า ทางออกปัญหาข้อถกเถียงประเด็นการจัดเรตติ้ง คือ ควรมีการสร้างกลไก พบปะพูดคุยกันระหว่างผู้ผลิตสื่อ ผู้บริโภค และหน่วยงานกลาง ให้มีกระบวนการจัดเรตติ้งที่มีเอกภาพ และเน้นกระบวนการกำกับดูแลของภาควิชาชีพให้มากขึ้น  ขณะเดียวกัน เมื่อมีการตั้ง กสทช.ขึ้นมา ควรจะมีบทบาทในการกำกับดูแลให้สื่อมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าการเข้าไปควบคุม หรือแทรกแซง  ที่สำคัญ จะต้องไม่ไปรุกราน ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสื่อ โดยต้องเอื้อให้แต่ละฝ่ายมาแลกเปลี่ยนพูดคุย สะท้อนความคิดเห็นระหว่างกันเพื่อนำไปสู่แนวทางการปรับหาจุดร่วมกัน
 
รองประธาน คปส.  กล่าวต่อว่า ละครโทรทัศน์ สามารถมองได้หลายมิติ ทั้งในแง่ศิลปะ บันเทิง  รวมถึงละคร ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่เสพสื่อที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นการกระทบต่อสิทธิผู้บริโภค ดังนั้น ความท้าทายของ กสทช.ก็คือ ต้องหาจุดกำกับ ในการสร้างความสมดุลให้ได้ ไม่ควรใช้วิธีสั่งการบังคับ และไม่ใช่ละเลยไม่ฟังเสียงของคนในสังคม  กสทช.จึงต้องมีการสร้างกลไกเพื่อต่อยอด ในสิ่งที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ได้เสนอร่วมกับองค์กรภาคประชาชน ที่อยากให้มีกลไกลรับเรื่องร้องเรียน และนำเรื่องร้องเรียนไปเชื่อมความเข้าใจระหว่างผู้ผลิตสื่อและประชาชน  ซึ่งอาจจะพบกันอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู้ข้อเสนอร่วมกัน มาตรฐานเดียวกัน และเป็นการยกระดับการกำกับดูแลสิทธิผู้บริโภคในระยะยาว แทนที่จะด่ากันไปด่ากันมาผ่านสื่อ แต่ละฝ่ายก็รู้สึกว่าไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย มีละครเรื่องหนึ่งไม่เหมาะสมทีก็ออกมาต่อต้านทีเป็นไฟไหม้ฟาง ซึ่งกสทช. ควรดำเนินการจัดทำให้เกิดขึ้นเป็นจริงเป็นจังให้ได้
 
“เมื่อมีปัญหาละครที่ไม่เหมาะสมขึ้น จะเกิดกลุ่มคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มองว่าไม่เป็นไร  และกลุ่มที่เห็นว่าร้ายแรง ดังนั้น จึงต้องให้แต่ละฝ่ายมาชี้แจง และสร้างกระบวนการพูดคุยกันหาข้อตกลงร่วมกันว่า ท้ายที่สุดแล้วควรมีมาตรฐานยังไง เรื่องไหน เป็นเรื่องที่ทางวิชาชีพ ต้องกลับไปกำกับดูและพัฒนากันเอง ส่วนเรื่องที่เข้าข่าย ว่ามีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ก็ต้องปรับเวลา เช่น อาจจะทำกติการ่วมกัน ว่า ถ้าละครเรื่องนั้นมีเนื้อหารุนแรงทุกกรณี เช่นเอาปืนมายิงกราดใส่กัน หากเรามองว่า มีความรุนแรงไม่เหมาะแก่เยาวชน ก็ต้องปรับเวลาออกอากาศ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีกติกาตรงนี้ พอเกิดเรื่องที รัฐบาลก็มาแสดงท่าทีทีหนึ่ง และบางครั้งก็เป็นการแสดงท่าทีที่ทำให้รู้สึกว่ารัฐบาลใช้อำนาจมากเกินไป  แต่พอรัฐบาลไม่ทำประชาชนก็ไม่พอใจ และมองว่าไม่รับผิดชอบ ดังนั้น กสทช.ต้องนำทุกฝ่ายมาคุยกัน เอากฎกติกา ที่มาจากกลุ่มวิชาชีพ ผู้ผลิต ผู้บริหารสถานี ภาครัฐ  และภาคประชาชน เป็นตัวตั้ง” รองประธาน คปส.กล่าว
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น