xs
xsm
sm
md
lg

คณะทำงานวิชาการเสียงแข็งยาข้อเข่าเสื่อมสรรพคุณไม่ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะทำงานวิชาการกลูโคซามีน เสียงแข็ง ยันผลศึกษายากลุ่มข้อเข่าเสื่อมประสิทธิผลไม่ชัดเจน ส่วนกรมบัญชีกลางจะทบทวนประกาศยกเลิกการเบิกจ่ายหรือไม่ เป็นสิทธิของหน่วยงาน

วันนี้ (10 พ.ค.) ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส.ในฐานะรองประธานคณะทำงานวิชาการทางการแพทย์ภายใต้คณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง แถลงข่าวเรื่อง คณะทำงานวิชาการทางการแพทย์ชี้แจงกระบวนการทำงานวิชาการและข้อค้นพบพร้อมหลักฐานสำคัญที่เสนอยกเลิกเบิกยากลูโคซามีน ว่า หลังจากที่กรมบัญชีกลางได้ประกาศยกเลิกการการเบิกจ่ายยากลุ่มกลูโคซามีน เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2554 โดยได้มีคณะทำงานวิชาการฯ ศึกษาข้อมูลเพื่อนำเสนอประกอบการตัดสินใจไปนั้น จนถึงปัจจุบันได้มีข้อถกเถียงกันมาก แต่ยังคงยืนยันเหมือนเดิม ว่า การศึกษาที่เสนอให้กับกรมบัญชีกลางนั้น อ้างอิงมาจากผลงานวิจัยที่เชื่อถือได้ แต่กรมจะตัดสินใจอย่างไรจะกลับลำให้มีการเบิกจ่ายหรือไม่ก็แล้วแต่จะตัดสินใจ

ด้าน นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ เลขานุการคณะทำงานวิชาการฯ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยได้ทำการศึกษาอย่างรอบด้าน โดยได้รวบรวมและศึกษาทบทวนเอกสารวิชาการเกี่ยวกับกลุ่มยากลูโคซามีนจากทั่วโลก และคัดเลือกงานวิจัยที่อ้างอิงได้จำนวน 134 ฉบับ โดยไม่ยอมรับงานวิจัยที่มีบริษัทยาสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งปรากฏว่า ยากลุ่มดังกล่าวมีประสิทธิผลไม่ชัดเจน และก่อนจะสรุปทางคณะทำงานฯ ได้ส่งรายงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู มูลนิธิโรคข้อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีข้อโต้แย้งกลับมาก็ได้ชี้แจงกลับแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่างานวิจัยทั้งหมดเชื่อถือได้ ส่วนจะทบทวนหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาใหม่ๆ หากมีข้อโต้แย้งใดๆ ก็พร้อมจะพิจารณารับฟังและพิจารณาแต่ต้องมีข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจน

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อสรุปของการศึกษาเรื่องนี้ คือ กลูโคซามีนมีประสิทธิผลไม่ชัดเจน ซึ่งไม่ได้บอกว่าไม่มีประสิทธิผล แต่ผลลัพธ์ของการใช้ยาไม่ชัดเจน เนื่องจากจะพบว่า ข้อมูลที่สรุปว่ายาดังกล่าวมีประสิทธิผลนั้น มาจากผลการศึกษาที่มีคุณภาพแต่เป็นการนำผลงานหลายระดับมาปะปน แต่หากวิเคราะห์เฉพาะผลการศึกษาคุณภาพสูงที่มีการประเมินชัดเจนนั้น จะพบว่า กลูโคซามีนให้ผลพอๆกับการไม่ใช้ยา ขณะเดียวกันกลูโคซามีนเป็นยาที่ไม่มีความคุ้มค่า เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 7.3 ถึง 26 เท่าของเกณฑ์มาตรฐานความคุ้มค่าในการใช้ยาของประเทศไทย

“จากการทบทวนข้อมูลทั่วโลก ทั้งสหราชอาณาจักร สกอตแลนด์ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ และสวีเดน ก็ไม่ได้แนะนำหรือไม่อนุมัติให้มีการเบิกจ่ายยาเหล่านี้ในระบบสาธารณสุขของรัฐบาล เนื่องจากพบว่า งานวิจัยที่มีคุณภาพไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า กลูโคซามีนมีประโยชน์อย่างชัดเจนทางการแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะทำงานฯ ของไทย”
กำลังโหลดความคิดเห็น