สึนามิญี่ปุ่นพ่นพิษ แรงงานไทยได้รับผลกระทบแล้ว 6 หมื่น อีก 8 หมื่นเสี่ยง วอนลูกจ้าง-นายจ้างหันหน้าหารือกัน
วันนี้ (4 พ.ค.) นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น ข้อมูล เมื่อวันที่ 28 เมษายน มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ต้องลดกำลังการผลิต เนื่องจากวัตถุดิบไม่เพียงพอ ไม่มีการทำงานล่วงเวลา รวมทั้งใช้การหยุดกิจการตามมาตรา 75 รวมทั้งสิ้น 60 แห่ง มีลูกจ้าง 60,704 คน โดย 5 จังหวัดแรกที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบ 16 แห่ง ลูกจ้าง 11,441 คน, จังหวัดสมุทรปราการ 7 แห่ง ลูกจ้าง 17,605 คน, จังหวัดชลบุรี 4 แห่ง ลูกจ้าง 7,287 คน, จังหวัดฉะเชิงเทรา 3 แห่ง ลูกจ้าง 4,500 คน และจังหวัดปทุมธานี 3 แห่ง ลูกจ้าง 2,670 คน
อธิบดี กสร.กล่าวว่า ขณะที่ประเภทกิจการที่ต้องเฝ้าระวังที่อาจจะได้รับผลกระทบ มีทั้งหมด 302 แห่ง ลูกจ้าง 80,130 คน ในประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ประกอบรถยนต์ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตวิกผมส่งออก ส่วนสถานประกอบการที่ได้รับประโยชน์ในการเพิ่มกะการทำงาน เนื่องจากยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น มีจำนวน 26 แห่ง ลูกจ้าง 23,016 คน ในประเภทกิจการแปรรูปอาหาร, เลี้ยงสัตว์ ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตถ้วยเซรามิก ผลิตอะลูมิเนียม ส่งออกผักและผลไม้ และผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ส่วนสถานประกอบการที่เคยได้รับผลกระทบและกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว มีทั้งหมด 4 แห่ง ลูกจ้าง 1,098 คน เป็นประเภทกิจการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2 แห่ง ลูกจ้าง 443 คน ในจังหวัดสิงห์บุรี และเชียงราย ประกอบอะไหล่รถยนต์ 1 แห่ง ลูกจ้าง 255 คน ในจังหวัดเชียงราย และผลิตสับปะรดกระป๋อง 1 แห่ง ลูกจ้าง 400 คน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
“ลูกจ้างที่มีนายจ้างเป็นชาวญี่ปุ่น ที่ผ่านมาจะได้รับค่าตอบแทนที่ดี และมีมาตรฐานชีวิตที่ค่อนข้างสุขสบาย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น ก็อยากให้ลูกจ้างมีความเอื้ออาทร มีน้ำใจให้กับนายจ้าง โดยต้องเข้าใจว่าเป็นเหตุสุดวิสัย แต่หากว่าเหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ หรือมีสถานประกอบการใด ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าว ก็ขอให้แจ้งเข้ามาที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร.1546 ซึ่งทางกรมพร้อมที่จะรับฟังและแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม ควรดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท และใช้จ่ายอย่างประหยัด โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว” นางอัมพร กล่าว
ด้านนายยงยุทธ์ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ มียอดการผลิตลดลงไปครึ่งหนึ่งจากยอดเดิม ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา หลายบริษัทพยายามรักษาแรงงานเอาไว้ โดยที่ยังไมได้ตัดเงินเดือน แต่อาจมีบางบริษัทที่มีการผลิตน้อยลง โดยลดเวลาทำงานเหลือเพียงวันอังคารถึงวันพุธ ทำให้ต้องลดเงินเดือนของลูกจ้างเหลือร้อยละ 75 อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยในการใช้มาตรา 75 ในการลดเงินเดือนของลูกจ้าง เพราะปัญหาดังกล่าวไม่ได้เป็นผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งดูได้จากยอดการสั่งจองรถของประชาชนที่มียอดจองสูงถึง 3 หมื่นคัน โดยสหพันธ์อยากให้รัฐบาลช่วยดูแลในเรื่องของค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของแรงงาน เพราะบางบริษัทรับภาระนี้ไม่ไหว
นายยงยุทธ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของบริษัทผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นค่อนข้างดีขึ้นแล้ว หลายบริษัทเริ่มกลับมาผลิตชิ้นส่วนอีกครั้ง ทำให้บริษัทในประเทศไทย เริ่มทยอยผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้ประกอบ หลายบริษัทเริ่มนำแรงงานไปฝึกอบรมการประกอบรถยนต์มากขึ้นเพื่อรอชิ้นส่วนจากทางญี่ปุ่นส่งมายังประเทศไทย ทั้งนี้ อยากให้ลูกจ้างคลายความกังวล เพราะทางสหพันธ์จะเช็กสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา คาดว่า ไม่เกินปลายเดือนตุลาคมปัญหาทุกอย่างน่าจะคลี่คลาย