กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 30,524 ราย หลังเทศกาลสงกรานต์พบผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มก้อนหลายพื้นที่ แนะเลี่ยงอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ-อาหารค้างคืนที่ไม่ได้แช่เย็นและไม่ได้อุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน
วันนี้ (1 พ.ค.) นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นอีกโรคที่สำคัญและอาจเกิดการระบาดได้ในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ และในการจัดเลี้ยงที่มีประชาชนมารวมกันจำนวนมาก อาทิ ปีใหม่ สงกรานต์ งานบุญ งานบวช เป็นต้น จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-25 เม.ย.2554 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสะสมรวม จำนวน 3,0524 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 48.05 ต่อประชากรแสนคน และยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ จ.อำนาจเจริญ อัตราป่วย 232 .74 ต่อประชากรแสนคน อุบลราชธานี อัตราป่วย 118.09 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดขอนแก่น อัตราป่วย 117.46 ต่อประชากรแสนคน อุดรธานี อัตราป่วย 110.21 ต่อประชากรแสนคน และ พิษณุโลก อัตราป่วย 94.73 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก็เป็นภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดด้วยเช่นกัน ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดเป็นกลุ่มก้อน 2 ตัวอย่างจากจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ เหตุการณ์ในจังหวัดมหาสารคาม พบผู้ป่วย จำนวน 149 ราย และจังหวัดร้อยเอ็ด พบผู้ป่วย จำนวน 76 ราย ทั้งสองเหตุการณ์เกิดระหว่างมีงานบุญในวัดและงานบุญบวชจัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีประชาชนมารวมกันจำนวนมาก ส่วนอาหารที่สงสัย ได้แก่ ไอศกรีม ขนมจีน ลาบหมูดิบและลาบเนื้อดิบ
นพ.มานิต กล่าวต่อไปว่า คำแนะนำสำหรับประชาชน ควรล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และก่อนประกอบอาหารทุกครั้ง รับประทานอาหารที่สุกสะอาด หากอาหารค้างคืนหรืออาหารที่แช่เย็นไว้ต้องอุ่นให้ร้อนจัดก่อนบริโภคเสมอ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เพราะมักจะพบการปนเปื้อนเชื้อจากอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งในเนื้อสัตว์ ไข่ อาหารทะเล นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ และควรสังเกตวันหมดอายุของอาหารกระป๋องด้วย หลังจากนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะมาถึง มีวันหยุดและเทศกาลงานบุญอยู่หลายวัน จะมีการมารวมกันของประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการประกอบอาหารรับประทานร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ จึงต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคอาหารเป็นพิษ หากพบผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตามด้วยอาการมีไข้ เบื่ออาหาร และอุจจาระร่วง มีตั้งแต่อาการอย่างอ่อนจนถึงรุนแรงอาจถ่ายมีมูกเลือดปนได้ ถ้าพบอาการดังกล่าวให้ไปพบแพทย์ทันที