สภาหอการค้าไทย แสดงความเป็นห่วงต่อภาวะที่รัฐทุ่มงบประมาณไปอุ้มราคาน้ำมันดีเซล ระบุเมื่อเลิกอุ้มจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปีหน้า ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น จากต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งแพงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและราคาสินค้าแพงขึ้น ซึ่งในที่สุดก็ต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
วันนี้ (28 เม.ย.) นายชุมพล พรประภา ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาหอการค้าไทย กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า ขณะนี้ที่น่าเป็นห่วง คือ การที่รัฐทุ่มงบประมาณไปอุ้มราคาน้ำมันดีเซลทั้งที่ ขณะนี้ราคาพุ่งสูงกว่าลิตร 30 บาทไปแล้ว เพราะเมื่อรัฐเลิกอุ้มราคาน้ำมันดีเซลและปล่อยลอยตัว จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปีหน้า ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น จากต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งแพงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและราคาสินค้าแพงขึ้น ซึ่งในที่สุดก็ต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะต้องพิจารณาจาก 3 ส่วน ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อซึ่งลูกจ้างอยากได้ค่าจ้างมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ แต่ลูกจ้างก็ต้องสามารถสร้างผลผลิตสูงขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ได้ผลผลิต 6-7% แต่ต้นทุนและการให้ค่าตอบแทนลูกจ้างอยู่ที่ 5% หากเป็นเช่นนี้นายจ้างก็ยินดีเพิ่มค่าจ้าง อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยินดีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ถึง 25% หากรัฐลดภาษีให้แก่เอกชนจากปัจจุบันจ่ายภาษีอยู่ที่ 30% ลดให้เหลือ 17-18%” ดร.ชุมพล กล่าว