โดย...จารยา บุญมาก
“เซ็กซ์” หรือการมีเพศสัมพันธ์ อาจเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะแก่การพูดถึงมากนักในสังคมไทย แต่ปฏิเสธที่จะเอ่ยถึงเรื่องของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ได้ อย่างโรค “ไวรัสตับอักเสบ” ก็เป็นโรคหนึ่งที่ถ่ายทอดผ่านการมีเพศสัมพันธ์
จากรายงานของสำนักระบาดระบาดวิทยา กรมคบคุมโรค (คร.) พบว่า ช่วงปี 2552-2553 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวถึง 7,087 ราย แบ่งเป็นไวรัสตับอักเสบเอ 434 ราย บี 6,000 ราย ซี 1,000 ราย และ อี 53 ราย โดยส่วนมากพบในหญิงและชายอายุ 40 ปีขึ้นไป
ดร.เกรียงศักดิ์ ฤชุศาสวัต นักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการพิเศษกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ไวรัสตับอักเสบ ติดต่อง่ายจริงหรือ ?” ในงานวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทย์ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จริงๆแล้วสาเหตุของการติดไวรัสตับอักเสบนั้นแต่ละชนิดมีวิธีการติดต่อ และแพร่เชื้อที่แตกต่างกัน
กรณีที่สงสัยว่า การจูบกับการมีเซ็กซ์นั้น อะไรเสี่ยงติดไวรัสตับอักเสบมากกว่ากัน ในทางวิทยาศาสตร์จะมององค์ประกอบหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องของระยะฟักตัว ความคงทนต่อเชื้อ โดยเมื่อเทียบกันระหว่างไวรัส 4 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซีและอี พบว่า ไวรัสตับอักเสบเอ และอี สามารถแพร่เชื้อได้ทางอาหาร น้ำดื่ม ผัก ผลไม้ รวมถึงสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ นอกจากนั้น ระบบสุขอนามัยที่ไม่ดี เช่น การขับถ่ายอุจจาระลงแหล่งน้ำ ส่วนการจูบนั้นหากไม่ใช่การจูบแบบแลกลิ้นและช่องปากหรือปลายลิ้นไม่ได้มีแผล เป็นเพียงการสัมผัสริมฝีปากธรรมดา ก็ไม่สามารถถ่ายทอดได้
ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะชนิดบี และซี แพร่เชื้อทางมารดาสู่ทารก การได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือด เช่น การบริจาคเลือด แต่ปัจจุบันแพทย์คัดกรองละเอียดจึงไม่ต้องกังวลมากนัก การใช้ของมีคมร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ การสัก การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ไม่สามารถถ่ายทอดทางการปนเปื้อนของอาหาร ส่วนการจูบความเข้มข้นของเชื้อในน้ำลายต้องมีปริมาณมาก โอกาสติดต่อจึงมีไม่มาก ขณะที่ชนิดซีติดต่อยากกว่าชนิดอื่น
ดร.เกรียงศักดิ์ อธิบายต่อว่า การมีเพศสัมพันธ์ถือว่าเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคู่รักแบบชายหญิง หญิงรักหญิง หรือชายรักชาย ล้วนมีความเสี่ยงเท่าเทียมกัน ดังนั้น หากไม่แน่ใจแนะนำว่าควรเปิดใจตรวจเลือด และปรึกษาแพทย์โดยตรง เพราะโรคไวรัสตับอักเสบเป็นภัยเงียบที่หลายคนมองข้าม
“ส่วนอาการที่แสดงออกทางร่างกายนั้น ข้อมูลทางแพทย์ ระบุไว้ว่า จะมีอาการคล้ายๆ กันแทบทุกชนิด คือ จะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น อ่อนเพลีย ในบางคนจะมีอาการตัวเหลือง ตาขาวเป็นสีเหลืองร่วมด้วย ขณะที่บางคนจะมีอาการมากกว่านั้น เช่น เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ปวดท้องที่ตำแหน่งชายโครงด้านขวา ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด” ดร.เกรียงศักดิ์ อธิบาย
อย่างไรก็ตาม การตรวจหาผู้ติดเชื้อนั้นไวรัสตับอักเสบทุกชนิดจำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในห้องปฏิบัติการโดยตรง ทั้งจากอุจจาระ และเลือด แต่เพื่อป้องกันตนเองจากไวรัสชนิดเอและอี ควรกินอาหารสุกผ่านความร้อนสูงมากกว่า 98 องศาเซลเซียส และหมั่นล้างมือให้สะอาด ดื่มน้ำสะอาด จะดีที่สุด และหากจะแสดงความรักด้วยการจูบก็ต้องมั่นใจว่าไม่มีฝ่ายใดเป็นแผลในปาก แต่หากจะมีเพศสัมพันธ์ต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง
การป้องกันอีกทางสามารถทำได้โดยการรับวัคซีน ยกเว้นชนิดซี ไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นต้องทำสิ่งต่อไปนี้ คือ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใช้มีดโกนหนวดด้วยกัน การใช้เข็มสัก เข็มฉีดยาด้วยกันและหมั่นตรวจคัดกรองปีละครั้ง ต่อเนื่องกัน 3 ปี เพื่อให้ทันต่อการตรวจพบเชื้อและการติดตามการรักษา