โดย...สุกัญญา แสงงาม
เกาะติดสถานการณ์มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน กระทำการเย้ยกฎหมายจนกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ กรณี “ซื้อขายวุฒิ ป.บัณฑิต วิชาชีพครู” ในราคา 30,000-50,000 บาท โดยไม่ได้เรียนทฤษฎี ไม่ได้ฝึกปฏิบัติการสอน นับเป็นเหตุการณ์สุดอื้อฉาวในแวดวงการศึกษาบ้านเราในขณะนี้เลยทีเดียว
ถือเป็นอีกปัญหาที่ท้าทายความสามารถของ “เสมา 1” - ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่สังคมกำลังจับตาสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องว่า “นายหัวชิน” จะสร้างผลงานชิ้นโบแดงให้พ่อพิมพ์แม่พิมพ์ได้กล่าวขาน หรือจะปล่อยให้เรื่องจางหายไปกับกาลเวลา
“ผมไม่ปล่อยให้ใครหน้าไหนมาสร้างความแปดเปื้อนให้กระทรวงศึกษาธิการ มีรอยมลทินอย่างเด็ดขาด ใครกระทำผิดต้องเอาผิดตามกฎหมาย ทั้งทางแพ่ง และอาญา ขณะนี้ผมมอบให้คุรุสภาประสานงานไปยังดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่รวบรวมหลักฐาน พยานให้มากที่สุด มหาวิทยาลัยเอกชนจะได้ดิ้นไม่หลุด ผมจะไม่กล่าวหาลอยๆ พูดกันด้วยหลักฐาน ขณะเดียวกัน ผมก็เปิดให้โอกาสอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าว นำหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหา จากนั้นจะนำหลักฐาน 2 ฝ่ายมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป หากผลการพิสูจน์พบว่า เป็นเรื่องจริง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จะตั้งคณะทำงานเข้าไปดูแลมหาวิทยาลัยชั่วคราว” รมว.ศึกษาธิการ วาจาอย่างหนักแน่น
ด้าน เลขาธิการคุรุสภา “องค์กร อมรสิรินันท์” ให้ภาพกว้างๆ ของเหตุการณ์การกระทำผิดกฎหมายในครั้งนี้ ว่า ปัญหาการซื้อขายวุฒิ ป.บัณฑิต ไม่ได้มีแห่งเดียว มีกระจายอยู่หลายแห่ง หลายภูมิภาค แต่เหตุผลที่เข้าไปตรวจสอบมหาวิทยาลัยเอกชนในจังหวัดขอนแก่น เนื่องเพราะการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีจำนวนมากผิดปกติอย่างมีพิรุธ การตรวจสอบจนพบกรณีการทำผิดจึงตามมา
“ผมมีพื้นเพอยู่ที่นี่ มีเพื่อนครูพร้อมให้ข้อมูล และตามที่มหาวิทยาลัย อ้างว่า ส่งนักศึกษามาฝึกปฏิบัติการสอนยังโรงเรียนต่างๆ คณะกรรมการคุรุสภาลงพื้นที่ ตรวจสอบโรงเรียน 54 แห่ง ตามมหาวิทยาลัย ระบุ ปรากฏว่า มี 23 โรงเรียน แจ้งว่า ไม่มีนักศึกษา 80 คน มาฝึกปฏิบัติการสอน ส่วนโรงเรียน 31 แห่ง บอกว่า มหาวิทยาลัยส่งนักศึกษามาปฏิบัติงานจริง ทำให้เรื่องแดงขึ้นมา”
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า ปัญหาตอนนี้ ก็คือ คุรุสภาได้ออกใบประกอบวิชาชีพให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ไปแล้วประมาณ 600 คน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,300 คน ที่ยังไม่ได้ออกให้
“แล้วเราก็ไม่รู้ว่านักศึกษา 80 คน ที่ไม่ได้ไปฝึกปฏิบัติงานอยู่ในจำนวน 600 คน ที่ออกไปแล้วหรือไม่ ตนสั่งให้สำนักทะเบียนตรวจสอบ ว่า ออกไปหรือยัง ถ้าออกไปแล้วจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป ก่อนหน้าที่จะมีปัญหาลุกลาม ผมเคยขอร้องให้มหาวิทยาลัย แยกรายชื่อนักศึกษาที่เรียนจริงออกจากกลุ่มซื้อ แต่มหาวิทยาลัยไม่แยกส่งรายชื่อมาทั้งหมด ผมตัดสินใจไม่ออกใบอนุญาตทั้งหมด ถ้ามหาวิทยาลัยไม่แยกรายชื่อ ก็เหมือนปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง นักศึกษาตัวจริงจะได้รับผลกระทบ เพราะจะไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งจะไปเป็นครูที่โรงเรียนแห่งไหนก็ไม่ได้”
นายองค์กร กล่าวต่อว่า ขณะนี้คุรุสภา จะไปตรวจสอบโรงเรียนในจังหวัดบุรีรัมย์ เพิ่มเติม มหาวิทยาลัย แจ้งว่า ส่งนักศึกษา 34 คนไปฝึกสอนยังโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีนักเรียน 180 คน ครู 11 คน นึกภาพไม่ออกว่าจะสอนกันอย่างไร รึว่า ให้นักศึกษา 2-3 คนสอนชั่วโมงเดียวกัน แล้วยังมีเรื่องพิลึกกึกกืออีกเรื่องหนึ่งที่มหาวิทยาลัย แจ้งว่า ส่งนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติงาน กศน.แค่นี้ก็ผิดเงื่อนไขคุรุสภาแล้ว!
ด้านกระทรวงผู้รับผิดชอบอย่าง “กระทรวงศึกษาธิการ” ได้ขีดเส้นตาย ให้มหาวิทยาลัย ส่งข้อมูลภายในวันที่ 25 เมษายนนี้ คงต้องเกาะติดเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ว่า มหากาพย์ซื้อขาย ป.บัณฑิต จะจบลงอย่างไร แล้วจะมีการเช็กบิลมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ ต่อหรือไม่ เพราะมีข่าวแพร่สะพัดอย่างหนาหู ว่า มหาวิทยาลัยทางภาคใต้ก็มีปัญหานี้เช่นกัน หากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เชือดเพียงแห่งเดียว เกรงว่า จะถูกกล่าวหาเลือกปฏิบัติ เพราะถิ่นอีสานเป็นฐานเสียงพรรคฝ่ายตรงข้าม
หลายฝ่ายเชื่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ นี้ไม่ใช่ที่แรก และไม่น่าจะใช่ที่สุดท้าย ปัญหานักศึกษาจบใหม่ที่ไร้คุณภาพ ที่เข้าไปสู่สถานที่ทำงานตลอดจนองค์กรต่างๆ ที่เปิดรับสมัครคนทำงาน แล้วทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ เป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องในความเข้มงวดของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับความทุจริตของผู้ที่จ้องหาช่องโหว่ดำเนินการกระทำผิดโดยมิชอบ และกับอามิสสินจ้างและทรัพย์สิน เป็นปัญหาหากจะเรียกมันว่า “มะเร็งในวงการการศึกษา” ก็เห็นจะไม่ผิดนัก และขีดเส้นใต้ด้วยหมึกสีเข้มให้เห็นชัดๆ ว่า ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องควรจะ “เชือดจริง” เสียที ก่อนที่ประเทศไทยจะมี “นศ.ซื้อปริญญา” กันจนล้นตลาดงาน อย่าให้การลั่นวาจาของ เสมา 1” กลายเป็น “ลมปากที่ดีแต่ขึงขัง” ไปเป็นครั้งคราวเพื่อแก้เรื่องฉาวๆ เฉพาะหน้าเลย